HoonSmart.com>>”เอเชีย เอวิเอชั่น”(AAV) เล็งผลงานพลิกเป็นกำไรในปีนี้หลังครึ่งปีแรกทำกำไรจากการดำเนินงานไปเกือบ 2 พันล้านบาท เป้ารายได้ปีนี้โต 20-23% ครึ่งปีแรกทำรายได้โต 32% YoY โดยมีแผนเพิ่มเครื่องบินให้บริการ 60 ลำในปีนี้จากปัจจุบันมี 57 ลำ พร้อมขยายเส้นทางบินไปกาฐมาณฑุในไตรมาส 3 และจะเพิ่มจำนวนที่นั่งในตลาดอินเดีย ส่วนเงินบาทอ่อนค่าทำให้ต้องเผชิญกับการขาดทุน FX จากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยว่า เป้าหมายรายได้ปีนี้ (2567) จะเติบโต 20-23% YoY ซึ่งครึ่งปีแรกทำรายได้เติบโตไปแล้ว 32% YoY โดยปีนี้บริษัทคาดว่าผลดำเนินงานจะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ หลังจากที่ครึ่งปีแรกทำกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ไปแล้ว 1,950 ล้านบาท ในครึ่งปีหลังก็คงจะไม่ผิดไปจากเป้าหมาย
ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกบริษัทมีเครื่องบินให้บริการ 57 ลำ ในครึ่งปีหลังจะมีเครื่องบินเข้ามาเพิ่มอีก 2-3 ลำ ซึ่งปีนี้บริษัทจะมีเครื่องบินให้บริการ 60 ลำ โดยบริษัทจะมีเครื่องบินแบบใหม่ 321 จำนวน 5 ลำในสิ้นปีนี้ ซึ่งได้ทำการจองไว้กับทางแอร์บัสแล้ว และจะมาที่ไทยให้บริการ อีกทั้งเครื่องบิน 321 จะมีการปรับเป็น 321XLR ทำให้บินไปได้ไกลขึ้น ซึ่งในอนาคตจะนำเข้ามา และจะไปทำตลาดทางฝั่งตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย โดยตลาดสำตัญของแอร์เอเชีย ยังเป็นตลาดจีน, อินเดีย, ไต้หวัน-ญี่ปุ่น และเวียดนาม จำนวนบรรทุกผู้โดยสารครึ่งปีแรกทำได้ 92% ทั้งปี 2567 คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียง 90%
“สายการบินของบริษัทในส่วนเส้นทางไต้หวัน-ญี่ปุ่น ก็จะมีการเริ่มบินจากกรุงเทพไปไต้หวันแล้วไปต่อที่ญี่ปุ่น โดยไต้หวันจะไปลงได้ที่ไทเป และเกาสง ซึ่งความต้องการของไต้หวันมีสูงที่จะอยากจะบินไปญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีเปิดบินจากเกาสงไปนาริตะ ที่ญี่ปุ่น ให้ Yield ดี ดังนั้นเรากำลังศึกษาที่จะบินไปโอซาก้า ซับโปโร ด้วยในอนาคต ส่วนเส้นทางอินเดีย มีโอกาสเปิดเพิ่มที่นั่ง ซึ่งปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ตรงนี้ 15% หากเพิ่มที่นั่งก็น่าจะมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นได้อีก สำหรับเวียดนามคนไทยชอบไปเที่ยว เพราะใช้เวลาเดินไม่มาก จึงเป็นที่นิยม ซึ่งบริษัทมีแผนจะเปิดเส้นทางไปไป”โกว๊ก (Quoc) …และมีแผนจะเปิดเส้นทางไปกาฐมาณฑุ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่จะไปเขาเอเวอร์เรส ซึ่งจะเปิดในไตรมาส 3”
นายสันติสุข กล่าวว่า “ปีนี้เริ่มเห็นความต้องการการเดินทางมากขึ้น ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวจะมีการเดินทางตามฤดูกาล อย่างไตรมาส 1 การท่องเที่ยวสูงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2566 พอเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 หลังเดือนเม.ย.การท่องเที่ยวก็จะลดลงไปบ้าง และไตรมาส 3 เข้าสู่ช่วงฤดูฝน การเดินทางไม่สะดวก นักท่องเที่ยวลดลงบ้าง แต่จะกลับไปเติบโตอีกทีในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นแบบนี้มาโดยตลอด แต่ปีนี้เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่เป็นปีแรกที่หมดโควิดที่ความต้องการท่องเที่ยวยังมีเพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็ได้จัด Capacity ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเราจะเน้นการทำกำไร และ Yield เป็นหลัก”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV กล่าวว่า สิ้นไตรมาส 2 จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย 18 ล้านคน ทำได้ตามเป้าหมายราว 50% ของเป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยที่คาดไว้ 35 ล้านคนในปีนี้ และ 7 เดือนแรกปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย 21 ล้านคน ปีนี้จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย โดยสัญชาติจีนครองอันดับ 1 ครึ่งปีแรกเข้ามา 3.4-3.5 ล้านคน และ 7 เดือนแรกของปีนี้เข้ามา 4.2 ล้านคน เป้าหมาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน 8 ล้านคนน่าจะยังท้าทายอยู่
“ตลาดในประเทศกลับมาเกือบ 100% ส่วนตลาด East Asia อย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น ก็มีการฟื้นตัว อินโดไชน่ากลับมาแรง แต่มาเลเซีย และอินโดนีเซียยังช้าอยู่ ส่วนพม่าเปิดเส้นทางบินไม่ครบ ตลาดอินเดียฟื้น ส่วนตลาดจีนยังไม่กลับมา 100% บวกกับค่าใช้จ่ายที่บินไปจีนมีค่าใช้จ่ายที่สูง และมีการแข่งขันสูงจากสายการบินของจีน ทำให้ Yield ไม่ค่อยดี ดังนั้นเราได้มีการเลือกเมืองหลัก ๆ ไปลง เพื่อรักษาสิทธิ์ไว้ก่อน”
นายสันติสุข กล่าวต่อว่า ค่าตั๋วคงจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกระยะ จากที่มอง Supply และ Capacity เป็นหลัก ซึ่งความต้องการเดินทางสูง แต่คิดว่าไม่มีเพิ่มเครื่องบินเข้าไทยมาก Supply คงเดิม นักท่องเที่ยวแข็งแรงอยู่ การแข่งขันเช่นนี้ไม่น่าจะมีเรื่องสงครามราคา เพราะไทยมีข้อจำกัดในเรื่องสนามบินทำให้การขยายตัวยังไม่ได้มีนัยยะสำคัญมาก เครื่องบินใหญ่ ๆ ก็มีข้อจำกัดนการส่งมอบเครื่องบิน ส่วนเครื่องบินมือสองก็ยังตึง ๆ อยู่
“Digital Wallet ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อบริษัท เพราะใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินไม่ได้ แต่ถ้าทำแล้วเศรษฐกิจดีขึ้น ก็ทำให้เงินเข้าระบบมากขึ้น ก็อาจจะได้ผลดีในแง่ของการท่องเที่ยวไปด้วย”
นายไพรัชล์ พรพัฒนนางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV เปิดเผยว่า บริษัทมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายส่วนมากเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ประกอบกับตามมาตรฐานทางบัญชีก็ต้องมีการรรับรู้หนี้สิน ตามสัญญาเช่า ในแบบ Mark to Market เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ก็ต้องบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (FX) ในทางบัญชี ดังนั้นจึงอยากให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่า