กองทุนรวมครึ่งปีโต 1.79% “บลจ.บัวหลวง” ลดลง 7.7 พันล.

HoonSmart.com>> อุตสาหกรรมกองทุนรวม 6 เดือนแรกปี 66 มูลค่าทรัพย์สินแตะ 4.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.75 หมื่นล้านบาท กว่า 1.79% จากสิ้นปีก่อน “กองทุนตราสารหนี้”เติบโต 1.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.40% การลงทุนต่างประเทศฟื้นตัว หุ้นสหรัฐฯขึ้นแรง หนุน “กองทุนต่างประเทศ” มูลค่าเพิ่มขึ้น 3.74 หมื่นล้านบาท ด้านบลจ.ใหญ่ 5 อันดับแรกพบ “บลจ.บัวหลวง” รายเดียว มูลค่าทรัพย์สินลดลง ฟาก “บลจ.กสิกรไทย” ยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 สิ้นสุด 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4,966,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87,546 ล้านบาท หรือ 1.79% จากสิ้นปี 2565 มีมูลค่า 4,878,893 ล้านบาท

ด้านกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีขนาดกองทุนสูงสุดอยู่ที่ 2,163,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110,909 ล้านบาท หรือ 5.40% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่กองทุนหุ้นมีมูลค่า 1,582.893 ล้านบาท ลดลง 27,083 ล้านบาท หรือ -1.68% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่า 377,836 ล้านบาท ลดลง 9,601 ล้านบาท หรือ -2.48% กองทุนรวมผสมมีมูลค่า 337,199 ล้านบาท ลดลง 9.532 ล้านบาท หรือ -2.75% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่า 233,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,162 ล้านบาท หรือ 6.45%

อย่างไรก็ตามหากแยกรายประเภทกองทุน ซึ่งกองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิขยับขึ้นแตะ 955,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,444 ล้านบาท หรือ 4.08% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่ มาร์เก็ต) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 268,206 ล้านบาท ลดลง 41,815 ล้านบาท หรือ -13.49% สะท้อนเงินไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

ส่วนกองทุนประหยัดภาษี กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มูลค่าลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 286,096 ล้านบาท ลดลง 46,256 ล้านบาท หรือ -13.92% กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่า 398,888 ล้านบาท ลดลง 5,413 ล้านบาท หรือ -1.34% และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,632 ล้านบาท หรือ 5.76%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดจากทั้งหมด 22 แห่ง ยังคงเป็นบลจ.กสิกรไทยมูลค่า 1,120,911 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54,884 ล้านบาท หรือ 5.15% รองลงมาบลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 904,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,537 ล้านบาท หรือ 1.41% อันดับสาม บลจ.บัวหลวง อยู่ที่ 740,782 ล้านบาท ลดลง 7,723 ล้านบาท หรือ -1.03% อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย 566,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,111 ล้านบาท หรือ 0.91% และอันดับห้า บลจ.กรุงศรี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 395,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,645 ล้านบาท หรือ 0.42%

ขณะที่บลจ.ที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ บลจ.เกียรตินาคินภัทร เพิ่มขึ้น 22.97% หรือมูลค่า 21,446 ล้านบาท รองลงมาบลจ.ทาลิส เติบโต 10.76% หรือ 328 ล้านบาท บลจ.บางกอกแคปปิตอล เติบโต 8.13% หรือ 1,822 ล้านบาท ด้านบลจ.เอ็กซ์สปริง มีอัตราการเติบโตลดลงมากสุด 10.68% หรือ 4 ล้านบาท รองลงมาบลจ.เคดับบลิวไอ -9.34% หรือ 245 ล้านบาทและบลจ.แอสเซทพลัส -8.73% หรือ 4,444 ล้านบาท

ด้านบลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในในครึ่งปีแรก ดัชนี Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.80%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +15.50%และ Nasdaq 100 เพิ่มขึ้น 37.51% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่ปี 2526 แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจยังเติบโตแข็งแกร่ง รวมทั้งหุ้นที่มีการใช้เทคโนโลยี AI ในธุรกิจหรือเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI ขึ้นโดดเด่นหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปิดไตรมาส 2/2566 SET INDEX อยู่ที่ระดับ 1,503.10 จุด -6.59 จุด จากสิ้นไตรมาส 1/2566 ดัชนีแกว่งตัว Sideways to Sideways down ตาม sentiment จากปัจจัยต่างประเทศ โดยมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น รัสเซียกับยูเครน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ระดับสูง ความกังวลจากแรงเทขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติและประเด็นความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งของไทย