CKP โกยกำไร 73.92 ลบ.โตต่อ Q3 การเงินแกร่ง COD โซลาร์เพิ่ม 7 MW

HoonSmart.com>>”ซีเค พาวเวอร์”(CKP) ไตรมาส 2/67 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 73.92 ล้านบาท รายได้ 2,621 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง  ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง คาด Q3 รับอานิสงส์บวกจากปัจจัยฤดูกาล เดินหน้าพัฒนาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง เตรียม COD โซลาร์เพิ่มเติม 

บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุต พรินต์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เปิดเผยผลงานงวดไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 73.92 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.009 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.8 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.00 บาท โดยรวม 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 387.05 ล้านบาท ขาดทุนหุ้นละ 0.048 บาท เทียบกับปีก่อนขาดทุนสุทธิ 102.49 ล้านบาท หรือ 0.013 บาทต่อหุ้น

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ เปิดเผยว่า บริษัทฯมีผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งในไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนปี 2567 ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 2 มีรายได้รวม 2,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1%  และรับรู้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานซึ่งไม่รวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 149 ล้านบาท ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รับรู้ขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 48 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้กำไรไตรมาสที่ 2 ดีขึ้น มาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 (NN2) เพิ่มขึ้นถึง 80.3% เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ ต้นปี 2567 ในระดับสูง และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงลดลง เนื่องจากการงานซ่อมบำรุงใหญ่ ประจำปี 2567 ส่วนใหญ่ดำเนินการไปแล้วในไตรมาส 1 ขณะที่ค่าเชื้อเพลิงของบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น (BIC) ลดลง 27.6% ตามราคาก๊าซธรรมชาติ และยังรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานของการร่วมค้าและบริษัทร่วมลดลง 110 ล้านบาท หรือลดลง 77%

“แม้ว่า CKP จะมีต้นทุนทางการเงินในไตรมาส 2 และรวม 6 เดือนปี 2567 เพิ่มขึ้น 12.6% และ 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ส่วนใหญ่มาจากการออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามสภาพตลาด แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนปี 2567 ลดลง 14.0% และ 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ” นายธนวัฒน์ กล่าว

สำหรับฐานะการเงินของ CKP ยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 มีสินทรัพย์รวม 69,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากสิ้นปี 2566 ขณะที่หนี้สินระยะยาว สัดส่วน 81% เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 3.77% โดยบริษัทจะยังคงติดตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิดและบริหารจัดการหนี้สินระยะยาวให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้คัดเลือกให้หลักทรัพย์ “CKP” อยู่ในดัชนี SET100/ SET100FF และยังได้รับคัดเลือกเข้าสู่ทำเนียบบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน (ESG100) ปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

นายธนวัฒน์กล่าวถึงแนวโน้มการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลน้ำหลากผนวกกับปรากฎการณ์ลานีญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป ส่งผลให้ปริมาณน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ นอกจากนี้ บริษัท บางเขนชัย (BKC) ได้อยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) อีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 7 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันภาคขนส่งสาธารณะระบบรางให้เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนครั้งแรกของประเทศไทย

“ก้าวเดินต่อจากนี้ของ CKP ได้เตรียมวางแผนลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนพร้อมวางรากฐานทางพลังงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชนและสังคม ผ่านการใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมในการคิดค้นนวัตกรรมและโครงการต่างๆ ตลอดจนขยายผลการสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนสู่เยาวชน ชุมชน สังคม เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593” นายธนวัฒน์ กล่าว

สำหรับ CKP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ จำนวน 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์