GULF ชูกำไรปกติ 4,779 ล้านบ. เพิ่มขึ้น 34% ลั่นรายได้ปีนี้โต 25-30% ต่อยอดลงทุน’ดิจิทัล’

HoonSmart.com>>”กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี” (GULF) โชว์ผลงานไตรมาส 2 /67 กำไรสุทธิ 4,741.26 ล้านบาท พุ่งขึ้น 64.35% เฉพาะกำไรจากการดำเนินงาน 4,779 ล้านบาท เติบโต 34% จากธุรกิจไฟฟ้าและก๊าซ  ยันเป้ารายได้ปีนี้โต 25-30% รวมครึ่งปีนี้กำไรสุทธิ 8,239.79 ล้านบาท เติบโต 22.34%  เดินหน้าต่อยอดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ยุพาพิน วังวิวัฒน์

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2/2567 มีกำไรสุทธิ 4,741.26 ล้านบาท กำไรหุ้นละ  0.40 บาท เพิ่มขึ้น 64.35% เทียบกับกำไรสุทธิ 2,884.93 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 0.25 บาทในช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยรวมครึ่งปีนี้กำไรทั้งสิ้น 8,239.79 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 0.70 บาท  เพิ่มขึ้น 22.34% จากกำไรสุทธิ  6,734.91 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 0.57 บาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

บริษัทมีรายได้รวม 32,617 ล้านบาท ลดลง 3% จากไตรมาส 2/2566 จากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่ลดลงจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติและค่า Ft ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงาน 4,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จาก 3,556 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กำไรที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ (MW) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) หน่วยผลิตที่ 3 ในเดือนมี.ค. 2567 ทำให้ GULF รับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสหน่วยที่ 1-3 (กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,987.5 MW) ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 MW ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 (กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์) เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้รับรู้กำไรเต็มไตรมาส

นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP  จำนวน 643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการ มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้น โดยมี load factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 67% เป็น 80% อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2/2566 โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีการหยุดซ่อมบำรุง (B-inspection)

ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จำนวน 182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จาก 148 ล้านบาท จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 5.2 เมตร/วินาที เป็น 5.5 เมตร/วินาที  อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG มีกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก 37 ล้านบาท เป็น 51 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 40% จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนราคาไม้เฉลี่ยที่ลดลงจาก 833 บาท/ตัน เป็น 680 บาท/ตัน  แม้ว่าราคาค่า Ft ขายส่งเฉลี่ยจะลดลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/2567 โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลง จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่ลดลง โดยมี load factor เฉลี่ยจาก 92% เป็น 84% เนื่องจากในเดือนมิ.ย.โรงไฟฟ้ามีการหยุดซ่อมบำรุง (CI-inspection) ตามแผนงาน นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลง จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ทั้ง กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-inspection) ตามแผนงานในไตรมาส 2/2567

สำหรับธุรกิจก๊าซนั้น GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 256% จาก 107 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 412.5 บาท/ล้านบีทียู เป็น 341.5 บาท/ล้านบีทียู  ขณะที่ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นจาก 70.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 81.6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2567 นี้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 269 ล้านบาท หรือ 20% จาก 1,352 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 โดยสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ AIS ที่ดีขึ้น จาก ARPU ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่ลดลงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 2/2567 จำนวน 10,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับ 8,620 ล้านบาท  ขณะที่กำไรสุทธิ ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ เท่ากับ 4,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จาก 2,885 ล้านบาท  โดยรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจาก 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1 เป็น 37.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2 แต่ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 GULF มีสินทรัพย์รวม 481,852 ล้านบาท หนี้สินรวม 337,974 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 143,877 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net interest-bearing debt to equity) อยู่ที่ 1.85 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.70 เท่า ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากจำนวนหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นกู้ในเดือนเม.ย. 2567 ประกอบกับการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงประมาณการการเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 25-30% โดยโครงการต่าง ๆ ยังคงดำเนินไปตามแผน สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง โครงการโรงไฟฟ้า GPD หน่วยที่ 4 (662.5 MW) มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามแผนในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) มีแผนที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 5 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 532 MW ในเดือนธ.ค. 2567 นอกจากนี้ โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะสามารถเข้าลงนามสัญญาได้ไม่ต่ำกว่า 270  MW  ภายในปี นี้ และดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าไม่ต่ำกว่า 180 MW  โดย GULF1 มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจ solar rooftop ให้ได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

ส่วนธุรกิจก๊าซ HKH ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ถือหุ้น 49% ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจำนวน 6 ลำ รวม 400,000 ตัน เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า HKP หน่วยผลิตที่ 1 อีกทั้งมีแผนจะนำเข้าเพิ่มเติมอีกประมาณ 200,000 ตัน ในช่วงที่เหลือของปีนี้  ซึ่งจะผลักดันให้รายได้ของกลุ่ม GULF ในปี 2567 เป็นไปตามเป้าหมาย

นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการอื่น ๆ  เช่น โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 มีกำหนดถมทะเลแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้าง LNG terminal ในช่วงกลางปี 2568 ในขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเรือในปลายปี 2568

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองนั้น สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569

ส่วนธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจศูนย์ข้อมูล GSA DC (data center) ของกลุ่มบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เฟสแรกซึ่งมีขนาด 25 เมกะวัตต์มีแผนเปิดให้บริการในเดือนเม.ย. 2568 โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายศูนย์ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มอีก 25 MW ในเฟสที่ 2 ภายในพื้นที่เดียวกัน รวมเป็น 50 MW โดย GSA DC จะมุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานสะอาด และได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการใช้ GPU ในการประมวลผลข้อมูล (cloud computing) ด้วย เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่าง ๆ กำลังขับเคลื่อนไปสู่ digital transformation จากการใช้งาน big data, IoT และ AI ซึ่ง workload ของ AI ดังกล่าวต้องใช้ GPU ในการประมวลผลข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลและใช้ระบบ liquid cooling ในการระบายความร้อน โดยกลุ่มลูกค้าหลักของ GSA DC จะเป็นกลุ่ม hyperscalers enterprise และหน่วยงานรัฐบาล

ส่วนธุรกิจ cloud ที่บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนที่จะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2568 โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ องค์กรที่ต้องการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญหรือเป็นความลับ โดยผู้ใช้งาน Google Cloud สามารถเลือกที่จะจัดเก็บข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูล GSA DC ของบริษัทฯ ได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจไปสู่บริการอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งได้แก่ AI และ cybersecurity

สำหรับเรื่องการควบรวมบริษัทระหว่าง GULF และ INTUCH นั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งการจัดตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2568”

GULF มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุม 40 จังหวัดทั่วไทยผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย โดย GULF ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม ตั้งเป้า 30 พื้นที่ในระยะเวลา 5 ปี มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน