HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร “อควา คอร์เปอเรชั่น” (AQUA) เป็น “BB” จาก “BB+” แนวโน้ม “คงที่” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกันของบริษัท (AQUA25NA) ที่ระดับ “BB”
ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) มาอยู่ที่ระดับ “BB” จากระดับ “BB+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกันของบริษัท (AQUA25NA) ที่ระดับ “BB” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกันของบริษัท (AQUA25NA) อยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรเนื่องจากมูลค่าของหลักประกันที่คาดว่าจะได้รับมีมากกว่า 50% ของยอดคงค้างทั้งหมด การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่ของบริษัทซึ่งมีความผันผวนและมีการแข่งขันสูงกว่าธุรกิจให้เช่าพื้นที่คลังสินค้าและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่บริษัทมีอยู่ อีกทั้งยังสะท้อนถึงระดับหนี้ที่สูงกว่าคาดจากการปรับโครงสร้างธุรกิจและการลงทุนในธุรกิจอาหาร ในขณะเดียวกันการทบทวนอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงขอบเขตของธุรกิจคลังสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของบริษัทที่มีขนาดเล็กอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต หนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างธุรกิจและการลงทุนในธุรกิจอาหาร บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอาหารโดยร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับเพื่อที่จะกระจายแหล่งรายได้ของบริษัท โดยบริษัทจะถือหุ้น 51% ใน บริษัท เอฟเอบี ฟู้ดโฮลดิ้ง (FAB)
ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วยเงินลงทุนจำนวน 1,275 ล้านบาท โดยเงินลงทุนบางส่วนจะชำระด้วยหุ้นที่บริษัทถืออยู่ใน บริษัท โนมิมาโช (Nomimashou) (ร้านอาหารราเม็ง) ตลอดจนสิทธิในการใช้สื่อโฆษณานอกบ้าน และเงินสดรับจากการขายธุรกิจและการชำระคืนเงินกู้ระหว่างบริษัท
โดยส่วนที่เหลือจะชำระด้วยเงินที่ได้จากการกู้ยืมและการออกหุ้นกู้ซึ่งคาดว่าจะทำให้หนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 700-800 ล้านบาท โดยบริษัทใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นหลักประกัน
ความเสี่ยงจากธุรกิจใหม่หลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ การดำเนินงานหลักของบริษัทจะประกอบด้วยธุรกิจคลังสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า
ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจอาหาร โดยธุรกิจคลังสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าสร้างรายได้ประจำและมีอัตรากำไรสูง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่ซึ่งได้แก่
ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอาหารนั้นมีการแข่งขันที่สูงและมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดค่อนข้างต่ำ รายได้มีแนวโน้มเติบโตแต่อัตรากำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 2566 บริษัทมีรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น 12.8% จากปีก่อนเป็น 335.6 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้ค่าเช่าเต็มปีจาก “Thonburi Rehab Center” ซึ่งเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากค่าเช่าจะอยู่ที่ประมาณ 340 ล้านบาทในปี 2567 และจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 325-330 ล้านบาทในช่วงปี 2568-2569 ตามอัตราค่าเช่าที่ลดลงในปี 2568 ทั้งนี้ ธุรกิจให้เช่าของบริษัทมีขนาดค่อนข้างเล็กและกว่า 70% ของรายได้กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ารายหนึ่งที่เช่าพื้นที่มานานกว่า 20 ปี
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.1-2.7 พันล้านบาทต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2567-2569 ภายหลังการควบรวมธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอาหารได้เต็มปี โดย EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32% ในปี 2567 และที่ระดับ 26% ในระหว่างปี 2568-2569 ซึ่งลดลงเนื่องจากธุรกิจใหม่ซึ่งมีอัตรากำไรต่ำกว่ามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ EBITDA นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 360 ล้านบาทในปี 2567 และที่ประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2568-2569 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินปันผลที่จะได้รับจาก บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะอยู่ในระดับต่ำซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในการเริ่มดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม
ภาระหนี้ที่คาดว่าจะลดลง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่าในปี 2566 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงาน ต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิและอัตราส่วน EBITDA ต่อความสามารถในการชำระดอกเบี้ยลดลงเหลือ 4.5% และ 2.0 เท่าตามลำดับ โดยอัตราส่วนที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนจำนวนมากที่ยังไม่สร้างผลกำไร
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ทางการเงินของบริษัทจะลดลงเนื่องจากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหาร โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าในปี 2567 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงเหลือต่ำกว่า 5 เท่าในระหว่างปี 2568-2569
ทรัพย์สินเกือบทั้งหมดมีภาระผูกพัน บริษัทมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 93 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 170 ล้านบาท และในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระซึ่งประกอบด้วยเงินกู้จำนวน 400 ล้านบาท และหุ้นกู้มูลค่า 630 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับเงินกู้รีไฟแนนซ์จำนวน 965 ล้านบาทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของภาระหนี้สินกำหนดให้บริษัทดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า อัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อ EBITDA ต่ำกว่า 6 เท่า และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ที่มากกว่า 1.05 เท่า โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ระดับ 0.5 เท่า 9.5 เท่า และ 1.13 เท่า ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการยกเว้นจากผู้ให้กู้ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในส่วนของอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อ EBITDA แล้ว ในการนี้ บริษัทจำเป็นจะต้องควบคุมดูแลอัตราส่วนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และหากจำเป็นก็ควรขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดจากผู้ให้กู้ต่อไป
ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 บริษัทมีหนี้สินรวม (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกันทั้งหมด ในขณะที่รายได้ค่าเช่าบางส่วนนั้น บริษัทนำไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ธนาคารตามเงื่อนไข สมมติฐานกรณีพื้นฐาน รายได้จะเพิ่มขึ้นที่ระดับราว ๆ 73% ในปี 2567 ที่ระดับ 126% ในปี 2568 และที่ระดับ 7% ในปี 2569
EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 32% ในปี 2567 และจะอยู่ที่ระดับราว 26% ในระหว่างปี 2568-2569
ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจะอยู่ที่ระดับ 700 ล้านบาทในปี 2567 และจะอยู่ที่ระดับราว 350 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2568-2569
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีรายได้ประจำจากค่าเช่าคลังสินค้าและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวและผลการดำเนินงานของธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอาหารจะสอดคล้องกับสมมติฐานกรณีพื้นฐานข
องทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง แรงกดดันต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตในทางลบจะเกิดขึ้นหากผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่อ่อนแอเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การละเมิดข้อตกลงทางการเงินโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้กู้จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจมาจากผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่คาดไว้อย่างมากจากการลงทุนในธุรกิจใหม่
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
– อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 ม.ค. 2565
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 ก.ค.2565
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิ.ย. 2564