ตามคาด บริษัทย่อยของดีแทค ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)เคาะราคาเพียงครั้งเดียว 38,064 ล้านบาท ใบอนุญาต 15 ปี ลูกค้าสบายใจได้ซิมไม่ดับ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ได้ประกาศให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz (890-895/ 935-940 MHz) และได้คลื่นความถี่ 1 ชุดคลื่นความถี่ ขนาด 2×5 MHz อายุใบอนุญาต 15 ปีไปครอง หลังจากเคาะราคาครั้งเดียว 38,064 ล้านบาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 2,664,480,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,728,480,000 บาท โดย ดีแทค ไตรเน็ต ต้องชำระเงินงวดที่ 1 จำนวน 4,020 ล้านบาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 281,400,000 บาท รวมทั้งสิ้น 4,301.4 ล้านบาท ภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ประชุม กสทช. มีมติรับรองผลการประมูล
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แบ่งการชำระเงินเป็น 4 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 2 และ 3 ชำระ 2,010ล้านบาท งวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลฯ ส่วนที่เหลือทั้งหมด
ด้านนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า วันนี้คือก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพื่อให้บริการกับลูกค้า โดยคลื่นย่านความถี่ต่ำจะช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่เพียงในเมือง แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพเพื่อลูกค้าดีแทคทุกที่ทั่วประเทศโดยเฉพาะการให้บริการครอบคุลมพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล
ดีแทคได้คลื่นใหม่ 900 MHz สามารถให้บริการคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ และคลื่นย่านความถี่สูงจากการถือครองใบอนุญาต 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz และให้บริการโรมมิ่งบนคลื่น 2300 MHz ของทีโอทีที่ DTAC เป็นพันธมิตร ทำให้มีแถบคลื่นความถี่ที่ให้บริการกับลูกค้าทั้งหมดกว้างถึง 110 MHz ทั้งนี้ DTAC จะนำคลื่นใหม่ 900 MHz มาให้บริการต่อเนื่องจากคลื่น 850 MHz สิ้นสุดสัมปทานถึงวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า ภายใต้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ กสทช. ที่ให้ผู้ชนะประมูลสามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แทนคลื่น 900 MHz ต่อไปได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ขณะนี้ลูกค้า DTAC ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป โดยสามารถใช้งานมือถือได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัด