HoonSmart.com>>คลังเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 67 โต 2.7% จากนักท่องเที่ยวเข้ามา 36 ล้านคน ใช้จ่าย 47,000 บาท/คน/ทริป สร้างรายได้ 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4% ส่วนส่งออกก็โตเกินคาด ยังไม่รวม โครงการ Digital Wallet แนวโน้มที่เหลือของปีมี 3 ปัจจัยบวก กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกมิ.ย. -0.3% ลดลงเล็กน้อยหลังหมดฤดูผลไม้ แต่เกินดุล 2 เดือนติด รวมครึ่งปีนี้ส่งออกเพิ่มขึ้น 2%
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่ 2.7% (กรอบ 2.2-3.2%) จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.4% เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่ได้รวมผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ Digital Wallet เพิ่มการขยายตัว 1.2-1.8%
การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งจำนวนและรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าประมาณการในครั้งก่อนคาดว่าปีนี้จะเดินทางเข้าไทย 36 ล้านคน ขยายตัว 27.9% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน และรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว คาดอยู่ที่ 47,000 บาท/คน/ทริปภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4%
นอกจากนี้ การส่งออกมีสัญญาณดีกว่าที่คาด ปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 2.3% เป็นผลจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ดุลบริการเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน ส่วนหนึ่งจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น และการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า 3 ปัจจัยสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่ 1.การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน 2.นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season 3.การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว สอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 2.ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
3.ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 4.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และ 5.ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
ส่วนสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือน มิ.ย.2567 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,796.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คาดว่าเดือนก.ค.จะกลับมาขยายตัวได้ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 218 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือนมิ.ย. ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสิ้นสุดฤดูการผลไม้ของภาคตะวันออก สถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตทุเรียนลดลง รวมถึงการพักเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาค เนื่องจากการส่งมอบสินค้าที่ถูกเลื่อนออกไป
สำหรับในช่วง 6 เดือนของปีนี้ การส่งออก มีมูลค่ารวม 145,290 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 150,532.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงขาดดุล 5,242.7 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายส่งออกทั้งปีนี้ไว้ที่ 1-2%