ก.คลัง หวัง 17 แบงก์อัดฉีดซอฟท์โลน พยุงเศรษฐกิจไทยไปต่อ

HoonSmart.com>>กระทรวงการคลัง หวัง Soft Loan 17 แบงก์ อัตราดอกเบี้ย 3.5% วงเงิน 1 แสนล้านบาท ให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศ จะช่วยค้ำยันธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ไปต่อได้ ดันเศรษฐกิจไทยกลับมายิ่งใหญ่ได้ในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ด้านออมสินย้ำเงินพร้อม มาก่อนได้ก่อน

วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีลงนาม โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up หรือ Soft Loan ระหว่าง 16 สถาบันการเงินภาคเอกชน และ ภาครัฐ กับธนาคารออมสิน วงเงิน 100,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการทั้ง 16 แห่ง นำเงินไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท

นายพิชัย ได้กล่าวขอบคุณ 17 สถาบันการเงินที่ทำงานร่วมกัน และมาถูกทาง เพราะประเทศที่จะเติบโตได้นั้น มีเอสเอ็มอีเป็นรากฐานที่สำคัญของทุกประเทศ ซึ่งไทยเอสเอ็มอีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 35% และมีจำนวนบุคคลากรถึง 70% แสดงว่ามีส่วนสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งสัดส่วนทางเศรษฐกิจที่ 35% ถือว่าต่ำไป ถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจะเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศ เพราะเศรษฐกิจขนาดกลางและใหญ่เริ่มต้นมาจากธุรกิจขนาดย่อย แต่ปัญหาของเอสเอ็มอีที่ผ่านมา คือ ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้เดิม ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่แม้ว่าจะเริ่มฟื้นแล้ว และอัตราดอกเบี้ยที่สูง

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up ถือว่าครบเครื่อง ในการนำเงินไปปล่อยสินเชื่อนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารแต่ละแห่ง สามารถนำไปปล่อยกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือปล่อยในรูปของตราสารชนิดอื่น หรือปล่อยให้ไปลงทุนต่อ และหลังจาก 2 ปีแล้ว สามารถปล่อยได้ตามอัตราความเสี่ยง ซึ่งคิดว่าอัตราดอกเบี้ยที่เอสเอ็มอียอมรับได้จะทำให้ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้ วงเงินปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท จะไปสอดคล้องกับมาตรการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีการค้ำประกันให้เอสเอ็มอีในวงเงิน 50,000 ล้านบาท จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มี 2 มาตรการ คือ จากบสย. และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ซึ่งจากการประเมินของธนาคารพาณิชย์ในรอบแรกคาดว่าจะมีความต้องการใช้เงินประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท

ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง ความเชื่อมั่นเริ่มมา เมื่อมีสภาพคล่องเติมเข้าไป จะเร่งความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ทั้งในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และจะทำให้จีดีพีกระเตื้องขึ้นมาได้อีกเล็กน้อย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเติมสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประชาชน คือ เงินดิจิทัล ซึ่งเอสเอ็มอี และประชาชน จะก่อให้เกิดพลังในการกลับไปช่วยผู้ค้ารายกลาง และรายใหญ่ หวังว่าจากจุดนี้ไทยจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตและกลับมายิ่งใหญ่ได้ในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ รวม 16 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ธนาคารทิสโก้ และธนาคารไทยเครดิต

“เป็นสินเชื่อที่ให้กับเอสเอ็มอีทุกประเภท ทุกธุรกิจ ซึ่งคาดว่าวงเงินที่จะใช้มากสุดน่าจะอยู่ระหว่าง 20-30 ล้านบาท แม้จะวางไว้ว่าภายใน 2 ปี ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 แต่ถ้าวงเงิน 100,000 ล้านบาทครบก่อน ก็จบโครงการ ซึ่งการปล่อยกู้จะใช้วิธีธนาคารไหนมาขอก่อนก็ได้ก่อน และทางธนาคารออมสินก็ร่วมปล่อยกู้ด้วยในวงเงินดังกล่าว”นายวิทัย กล่าว

นายวิทัย กล่าวว่า เงิน 100,000 ล้านบาทที่ทางธนาคารออมสินปล่อยกู้ในโครงการดังกล่าว มาจากสภาพคล่องของธนาคารเองและไม่มีภาระในการต้องตั้งสำรองเพิ่ม เพราะเป็นการปล่อยให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารเคยปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0.01% 2-3 ครั้ง และทุกครั้งที่ทำก็ใช้วงเงินหมดทุกครั้ง