กลุ่มแบงก์อ่อนลงยกแผง ครึ่งปีหลัง NPL ส่อแววสูงขึ้น สินเชื่อรถชะลอ

HoonSmart.com>>บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ประเมินครึ่งปีหลังกลุ่มแบงก์เผชิญ NPL ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เล็ง SCB ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหลังยุติให้บริการ Robinhood ส่วน TTB, TISCO และ KKP ต้องรับมือกับสินเชื่อรถชะลอตัว และอาจขาดทุนจากรถยึด รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมอาจไม่โตไปจนถึงปี 68 สำหรับไตรมาส 2/67 กลุ่มแบงก์ทำกำไรสุทธิรวม 5.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% YoY ลดลง 2.5% QoQ พร้อมเลือก BBL, KBANK เป็นหุ้น Top Pick ล่าสุดหุ้นกลุ่มแบงก์อ่อนตัวลงยกแผง ส่งดัชนีกลุ่มแบงก์ -0.71%

เมื่อเวลา 14.14 น.ดัชนีกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 349.24 จุด ลดลง 2.50 จุด หรือ -0.71% โดยหุ้นในกลุ่มแบงก์อ่อนตัวลงยกแผง

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคารไทยยังเผชิญกับปัจจัยลบจาก NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะมาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถและสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันเป็นหลัก โดย SCB นั้น น่าจะยังถูกกดดันจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2567 จากการยุติให้บริการแอป Robinhood รวมถึงอัตราส่วน NPL ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกันธนาคารที่เน้นสินเชื่อรถอย่าง TTB, TISCO และ KKP ต้องรับมือกับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของสินเชื่อรถ, อาจขาดทุนสูงจากการขายรถยึด และรายได้ค่าธรรมเนียมที่อาจไม่เติบโตในช่วงครึ่งปีหลังจนถึงปี 2568

ดังนั้นเลือก BBL ราคาเป้าหมาย 183 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 178 บาท เป็นหุ้น Top Pick และยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคารไทย โดยมองว่ากลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและมีปัจจัยลบจาก NPL ของกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่กลุ่มธนาคารมีการประเมิน มูลค่าอยู่ที่ P/BV เพียง 0.57 เท่า ในปี 67 ต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี สะท้อนว่า ROE อยู่ในระดับต่ำเพียง 8.7-8.8% ในปี 2567-2569

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารจะมี upside risk หากการบริโภคภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้น, การส่งออกขยายตัวดีขึ้นและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วน downside risk จะมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย

สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 ธนาคารไทย 7 แห่งที่ทำการศึกษา ได้แก่ BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO และ TTB ทำกำไรสุทธิรวม 5.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% YoY และลดลง 2.5% QoQ ขณะที่กำไรก่อนตั้งสำรองเติบโต 1.4% YoY และ 1.4% QoQ

โดย BBL และ KTB ทำกำไรสุทธิได้สูงกว่าคาด มีปัจจัยหนุนจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ KKP ทำกำไรต่ำกว่าประมาณการ ผลจากมีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงขึ้นและยอดสินเชื่อลดลง ส่วน SCB มีกำไรสุทธิต่ำกว่าคาด จากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood

กลุ่มธนาคารทั้ง 7 แห่ง มียอดสินเชื่อลดลง 0.1% YoY และ 0.7% QoQ ในไตรมาส 2 ปี 2567 และทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตมีการชำระคืนตามฤดูกาลในไตรมาส 2

ทั้งนี้กลุ่มธนาคารมีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นเป็น 3.68% ในไตรมาส 2 ปี 2567 จาก 3.61% ในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วพบว่า BBL, TISCO และ KKP มี NPL เพิ่มขึ้นมากสุด ขณะที่ SCB มีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นqoq จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยทุกประเภท โดยมีเพียง KBANK ที่มี NPL ลดลง QoQ จากการเคลียร์งบดุลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้บริหาร KBANK เผยว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารยังมีอัตราการสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 15bp QoQ นำโดย KKP, BBL, SCB และ TISCO