HoonSmart.com>>”บัตรกรุงไทย” (KTC) ฝ่าเศรษฐกิจชะลอตัว ไตรมาส 2/67 กำไรสุทธิ 1,826 ล้านบาท โต 1.1% รวม 6 เดือนทำได้ 3,629 ล้านบาทลดลงเล็กน้อย ตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น รายได้ 6,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% สินเชื่อทรงตัว พอร์ตรวม 105,803 ล้านบาท สมาชิก 3.45 ล้านบัญชี NPLs ลดลงอยู่ที่ 1.97% ต่ำกว่าอุตสาหกรรม เดินหน้าสู่เป้าหมายหลักรักษาคุณภาพพอร์ต สร้างกำไรสูงขึ้น เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อ เสนอแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม
บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2/2567 มีกำไรสุทธิ 1,826.19 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 0.71 บาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,805.83 ล้านบาทหรือ 0.70 บาทต่อหุ้น โดยรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 3,629.18 ล้านบาท หรือ 1.41 บาทต่อหุ้น ลดลง 1.3% เทียบกับกำไรสุทธิ 3,677.54 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 1.43 บาท
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อ ผู้บริโภคเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากแรงกดดันของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสะท้อนความเชื่อมั่นในเกณฑ์ดีติดต่อกันถึงเดือนมิ.ย. 2567 ทำให้การใช้จ่ายรวมของผู้บริโภคยังมีการเติบโตบ้าง โดย KTC มีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค. 2567 เท่ากับ 14.9% และ 6.3% ตามลำดับ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC เท่ากับ 12.8%
“ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ภาพรวมการดำเนินงานของ KTC อยู่ในระดับทรงตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แม้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต แต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวเพียงเล็กน้อย จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงขึ้น ประกอบกับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุม สำหรับคุณภาพพอร์ตของกลุ่มบริษัทยังบริหารจัดการได้ดี โดยมี NPLs รวมต่ำกว่าอุตสาหกรรม และมีเงินสำรองเพียงพอ โดยมี NPL Coverage Ratio ในระดับแข็งแกร่งที่ 363.3%”
สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะกิจการครึ่งปีแรก เท่ากับ 3,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% และในไตรมาส 2/2567 เท่ากับ 1,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนงบการเงินรวมของกลุ่มบริษัทครึ่งปีแรก 3,629 ล้านบาท ลดลง 1.3% และไตรมาส 2 เท่ากับ 1,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% โดยมีรายได้รวม 6,781 ล้านบาท เติบโต 8.7% จากรายได้ค่าธรรมเนียมและหนี้สูญได้รับคืนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 4,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% ส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว รวมถึงผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สูงขึ้น จากการตัดหนี้สูญและการตั้งสำรองเพิ่มตามหลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งต้นทุนทางการเงินที่ปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน
อย่างไรก็ตาม KTC ยังเชื่อว่าด้วยแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายหลักในปี 2567 ได้แก่ การสร้างกำไรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรักษาคุณภาพพอร์ตให้อัตราส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ โดยจะมุ่งสร้างฐานลูกค้าบัตรเครดิตในกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น การคัดกรองคุณภาพพอร์ตทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งการเพิ่มช่องทางรับสมัครสมาชิกผ่านจุดบริการใหม่ ๆ อย่างเคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน (One Stop Service) ที่กระจายในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ในผลิตภัณฑ์และสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้ต้องการสินเชื่อได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน KTC ยังได้เสนอแนวทางต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยในครึ่งปีแรก พบว่าลูกหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถจ่ายชำระขั้นต่ำที่ 8% ได้ มีเพียงลูกหนี้ส่วนน้อยที่ประสบปัญหา
นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ดังนี้ บัตรเครดิตสามารถเปลี่ยนเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อระยะยาวนาน 48 เดือน บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) สามารถผ่อนผันการชำระหนี้เป็นระยะเวลา 60 เดือน สินเชื่ออเนกประสงค์ “เคทีซี แคช” (KTC CASH) ปรับลดค่างวด 30% นาน 3 รอบบัญชี/งวด สินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” สำหรับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์และรถบิ๊กไบค์ สามารถปรับลดค่างวด 30% นาน 3 รอบบัญชี/งวด หรือขยายระยะเวลาผ่อนค่างวดเป็น 60 เดือน หรือ 72 เดือน หรือ 84 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของรถที่มาขอสินเชื่อ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน www.ktc.co.th/support/rate/table-of-disclosures และ
สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt: SPD) นั้นในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 3 เดือนแรกนับตั้งแต่เกณฑ์ SPD เริ่มมีผลบังคับใช้ มีลูกหนี้ KTC ที่สมัครเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือ คิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจริง 1.3% ของผลกระทบที่เคยประมาณการไว้ (18 ล้านบาทต่อเดือน) หากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 KTC มีฐานสมาชิกรวม 3,448,530 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 105,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPLs) 1.97% แบ่งเป็นสมาชิกบัตรเครดิต 2,717,213 บัตร เพิ่มขึ้น 4.3% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 69,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% NPLs บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.42% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรสำหรับงวดไตรมาส 2/2567 มูลค่า 70,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% สมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 731,317 บัญชี ลดลง 2.9% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 34,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% NPLs สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.21% โดยมียอดสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” จำนวน 2,699 ล้านบาท ขยายตัว 62.8% ในส่วนของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง (KTBL) มีมูลค่า 2,523 ล้านบาท ลดลง 28.7% ซึ่ง KTC ได้หยุดปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และปัจจุบันมุ่งเน้นการติดตามหนี้และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่
สำหรับแหล่งเงินทุน กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 61,965 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี) สัดส่วน 28.0% และเงินกู้ยืมระยะยาว 72.0% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) อยู่ที่ 1.97 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 2.18 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ที่กำหนดไว้ 10 เท่า และมีวงเงินกู้ยืมคงเหลือ (Available Credit Line) 28,171 ล้านบาท (ระยะสั้น 22,671 ล้านบาท และระยะยาว 5,500 ล้านบาท) โดยมีหุ้นกู้และเงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดในครึ่งหลังของปี 2567 ทั้งสิ้น 7,845 ล้านบาท