9 ประกันโดดรับช่วงลูกค้าสินมั่นคง คปภ.เร่งแก้กม.เพิ่มอำนาจแทรกแซง

HoonSmart.com>>คปภ.เผย เจ้าหนี้ 5 บริษัทประกันวินาศภัยที่ล้ม รวม 1.3 ล้านราย เป็นมูลหนี้ที่ต้องจ่าย 9 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้สินมั่นคงฯเกินครึ่ง 9 บริษัทประกันภัยโดดเข้ารับช่วงความคุ้มครอง คิดเบี้ยตามเวลาที่เหลือ แต่ถ้าต้องการยกเลิก เข้าแถวขอคืนเบี้ยจากกองทุนฯได้ทางออนไลน์ 9 ก.ย.-7 พ.ย.67 นี้ ที่ไม่รู้จะได้เมื่อไหร่

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า บริษัทสินมั่นคงประกันภัยที่ถูกปิดกิจการ มีค่าสินไหมค้างจ่าย 32,184.83 ล้านบาท จากเคลมทั้งหมด 484,204 รายการ แยกเป็นค้างจ่ายลูกค้าโควิด 30,124.47 ล้านบาท จำนวน 356,661 เคลม และค้างจ่ายประกันภัยอื่นๆ 2,060.36 ล้านบาท จำนวน 127,543 เคลม ซึ่งปัจจุบันบริษัทสินทรัพย์สภาพคล่องตามราคาบัญชี 2,228.28 ล้านบาท โดยจะโอนหนี้ทั้งหมดของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ไปให้ กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เป็นผู้ดำเนินการคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้

นายคณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คปภ. กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ และผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยไว้ 4 แนวทาง คือ 1.เพิ่มเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมตอบคำถามแก่ประชาชนทางสายด่วน 1186 ,ทาง LINE คปภ.รอบรู้ 2.ร่วมกับทางกปว.รวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือแก่ประชาชน ทางออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านสายด่วน ผ่านไลน์ และให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ของคปภ.ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคอีก 78 คู่สาย 3.ตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อลงทะเบียนยื่นขอรับชำระหนี้จาก กปว.ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ 4.ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งได้เตรียมเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไว้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแล้ว โดยการกรองข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัย บัตรประชาชน ใบเคลม และใบนัดชำระหนี้

9 บริษัทฯรับช่วงลูกค้า จ่ายเบี้ยตามเวลาที่เหลือ

นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า มี 9 บริษัทประกันภัย ที่เข้าร่วมโครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย ที่มีสัญญาประกันภัยกับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ประกอบด้วย บริษัทกรุงเทพประกันภัย บริษัทกรุงไทยพานิชประกันภัย บริษัททิพยประกันภัย บริษัทธนชาตประกันภัย บริษัทนวกิจประกันภัย บริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ บริษัทมิตรแท้ประกันภัย บริษัทวิริยะประกันภัย และบริษัทเออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) โดยจะเข้ามารับช่วงความคุ้มครองให้กับลูกค้าของสินมั่นคงฯที่กรมธรรม์ยังไม่ครบสัญญา ด้วยการให้ลูกค้ามาทำประกันภัยกับ 9 บริษัทเหล่านั้นได้เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจนครบปีกรมธรรม์

ยกตัวอย่าง ลูกค้าประกันภัยรถยนต์ บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ต้องการซื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าคิดเบี้ยที่ 10,000 บาท ก็จะนำมาหักออกจากระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลือ หรือ สิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยคืน เช่น ช่วงเวลาของความคุ้มครองที่เหลือคิดเป็นเบี้ยที่ลูกค้าจะได้รับ 4,000 บาท ก็นำเบี้ยที่บริษัทเข้าร่วมโครงการคำนวณไว้ที่ 10,000 บาท หักออก 4,000 บาท ลูกค้าจะจ่ายเงิน 6,000 บาท เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปให้ครบปี

กรณี ไม่อยากทำประกันภัยกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ อยากขอเบี้ยคืน ก็ต้องไปยื่นขอคืนเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของความคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัย(กปว.) ระหว่างวันที่ 9 ก.ย.-7 พ.ย.2567

ส่วนการจัดการสินไหมทดแทน หากรถของบริษัทประกันภัยที่เปิดดำเนินการอยู่ ไปชนรถบริษัทที่ปิดกิจการ ให้ทำการจัดซ่อมรถให้ลูกค้าทั้ง 2 ฝ่าย กรณีเป็นฝ่ายถูก ก็ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก กปว. ถ้าเป็นฝ่ายผิดก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดซ่อมตามเงื่อนไขกรมธรรม์

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการ กองทุนประกันวินาศภัย(กปว.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ได้ดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทแล้ว และจะมีการเร่งดำเนินการในเรื่องอื่นต่อๆ ไป แต่ด้วยขนาดของบริษัทดังกล่าวมีขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลาเพราะปริมาณงานที่ต้องจัดการมากกว่า 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ กปว.เป็นผู้ชำระบัญชี

ทั้งนี้ กปว.จะส่งหนังสือแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับไปยังลูกค้า และสิ้นสุดความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. นี้ และเปิดรับคำทวงหนี้จากลูกค้าของสินมั่นคงกว่า 8 แสนรายผ่านออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.-7 พ.ย.2567 โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการเข้าระบบอยู่ทั่วประเทศ และเปิดตู้ปณ.เพื่อรวบรวมข้อมูลไม่ให้ตกหล่น และเกิดความรวดเร็วในกระบวนการต่อไป

“เมื่อรวมเจ้าหนี้ของสินมั่นคงประกันภัยเข้ามาอีกประมาณ 8 แสนราย จะทำให้มีเจ้าหนี้ประกันภัยล้มรวม 5 บริษัท จำนวน 1.3 ล้านราย เป็นมูลหนี้ที่เราต้องคืนให้กับทางเจ้าหนี้กว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ทางเดียวที่กปว.มีคือจากเงินสมทบจากบริษัทประกันภัยปีละ 2 ครั้งต้นปี กับกลางปี รวมเป็นเงินประมาณกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี พอรับเงินสมทบมา ก็นำมาชำระหนี้ตามลำดับที่มีการยื่นขอทวงหนี้ไว้ ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่าจะคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดได้เมื่อไหร่ และกี่ปี”นายชนะพล กล่าว

กองทุนฯจ่ายหนี้ได้แค่ปีละ 1.2 พันล.

นายชนะพล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการหารือร่วมกับทางคปภ. และกระทรวงการคลัง ถึงทางเลือกในการที่จะหาเงินมาคืนหนี้เจ้าหนี้ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ ซึ่งจะหาแนวทางกันต่อไป โดย กปว.จะคุ้มครองหนี้สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ส่วนเกินจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คือไม่ได้รับชำระเต็มจำนวน

เตรียมเพิ่มอำนาจแทรกแซงก่อนล้ม

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายและตรวจสอบ คปภ. กล่าวว่า ทางคปภ.มีการทบทวนแนวทางการกำกับธุรกิจประกันภัยเพิ่มเติม โดยจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งด้านการคัดเลือกคณะกรรมการของบริษัท มาตรการดูแลทางด้านการเงิน เพิ่มอำนาจคปภ.ในการเข้าไปทแทรกแซงการทำงานของบริษัทประกันภัยที่เริ่มจะมีปัญหาทางการเงิน

“ที่ผ่านมาเราพยายามเต็มที่ในการกำกับดูแล ทั้งงานด้านวิเคราะห์ งานด้านตรวจสอบ แต่อำนาจกฎหมายมีจำกัด และเราเป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งกระบวนการแทรกแซงของรัฐต้องทำเมื่อมีความจำเป็นและตามสมควร มิฉะนั้นเราก็ถูกฟ้องได้เช่นเดียวกัน ระหว่างนี้ก็พยายามที่จะทบทวนกระบวนการต่างๆภายใต้อำนาจที่มีว่าทำอะไรได้บ้าง และต้องเพิ่มอะไรบ้าง ซึ่งจะต้องมีการหารือกับภาคเอกชน ก่อนที่จะกำหนดกฏระเบียบใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม เราเชื่อว่ากฎหมายจะอัพเกรดขึ้น ให้อำนาจคปภ.มากขึ้นในไม่ช้า”นายอดิศร กล่าว