ดาวโจนส์ปิดบวก 32 จุด เงินเฟ้อต่ำกว่าคาด

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์บวก 32  จุด S&P 500 และ Nasdaq ติดลบ  หลังเงินเฟ้อลดลงเกินคาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอ่อนตัวลงนักลงทุนสลับการลงทุนออกจากหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่  หันไปซื้อหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยอ่อนไหวต่อการปรับลดดอกเบี้ย  ตลาดหุ้นยุโรปและราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 11 ก.ค.2567 ปิดที่ 39,753.75 จุด เพิ่มขึ้น 32.39 จุด หรือ +0.08% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนสลับการลงทุนออกจากหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หลังการรายงานเงินเฟ้อที่ลดลงเกินคาด

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,584.54 จุด ลดลง 49.37 จุด, -0.88%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,283.41 จุด ลดลง 364.04 จุด, -1.95%

ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงเกินคาดเมื่อเทียบรายเดือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 ไปที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอ่อนตัวลงและนักลงทุนหันไปซื้อหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย

หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ถูกขายหนัก โดยหุ้น Nvidia ลดลงมากกว่า 5% ในขณะที่หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ปรับลงมากที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปี หุ้น Tesla ร่วงติดต่อกันในรอบ 11 วัน โดยร่วงลงมากกว่า 8% และลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม หลังจาก Bloomberg รายงานว่าบริษัทจะชะลอการเปิดตัว robotaxi ออกไป

นักลงทุนหันไปเข้ากลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยอย่าง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ขณะที่ดัชนีหุ้นเล็ก Russell 2000 บวกราว 3.6% เพราะนักลงทุนคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลังการเผยแพร่ข้อมูลเงินเฟ้อ

หุ้น Home Depot, Lowe’s และ D. R. Horton เพิ่มขึ้น 2%, 3% และราว 5% ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 3.0% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด จาก 3.3% ในเดือนพฤษภาคม และต่ำกว่า 3.1% ที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายเดือนลดลง 0.1% สวนทางกับการเพิ่มขึ้น 0.1% ที่นักวิเคราะห์คาด ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบรายปีจาก 3.4% ในเดือนพฤษภาคมจากระดับ 3.4% ในเดือนพ.ค.และ ต่ำกว่า 3.4% ที่นักวิเคราะห์คาด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง หลังการรายงานเงินเฟ้อ เทรดเดอร์ให้น้ำหนักมากขึ้นที่เฟดจะลดดอกเบี้ย โดยเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 93%ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 70% ในวันพุธ (10 ก.ค.)

นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันศุกร์ (12 ก.ค.) รวมทั้งรายงานผลประกอบการของธนาคารเจพีมอร์แกน ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก

ตลาดยุโรปปิดบวก จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ลดลงเกินคาด ซึ่งสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนกันยายน

ดัชนี้ STOXX 600 ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในช่วงเช้า

สหรัฐเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีในเดือนมิถุนายน จากราคาน้ำมันเบนซินและค่าเช่าที่พักอาศัยลดลง ซึ่งตอกย้ำภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง และทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนกันยายน
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสาธารณูปโภคปรับขึ้นนำตลาด และดัชนีหุ้นเล็กเพิ่มขึ้น 1.1%
ตลาดยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเงินเฟ้อของเยอรมนีที่ลดลงสู่ระดับ 2.5% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ 519.51 จุด เพิ่มขึ้น 3.09 จุด, +0.60%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,223.34 จุด เพิ่มขึ้น 29.83 จุด, +0.36%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,627.13 จุด เพิ่มขึ้น 53.58 จุด, +0.71%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,534.56 จุด เพิ่มขึ้น 127.34 จุด, +0.69%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 52 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 82.62ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 32 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 85.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล