HoonSmart.com>> กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ เผยลูกค้านิติบุคคลซื้อขายเงินตราสกุลเงินท้องถิ่นในอาเซียนพุ่ง 40% คาดแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้าน 3 สกุลเงินหลักของโลกเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10% ลดความเสี่ยงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว คาดเงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้ ตลาดหุ้น ชะลอตัว ผลจากอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มปรับทิศ
นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ครึ่งแรกของปีนี้ลูกค้าของธนาคารมีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูงถึง 40% โดยเฉพาะเงินหยวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มนี้เริ่มเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่การซื้อขายเงินตราสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินเยน ซึ่งเป็น 3 สกุลเงินหลักของโลก มีการเติบโตไม่ถึง 10% และคาดว่าแนวโน้มในการซื้อขายสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตในระดับดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวทางการค้าในภูมิภาคนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหลักจากการที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง
ในต้นปี 2567 กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ได้ขยายการให้บริการเงินสกุลเงินดีร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (AED)เพิ่มเติมจากสกุลเงินแรนด์แอฟริกาใต้ (ZAR) และดองเวียดนาม (VND) ที่ได้เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาและขยายการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณและยอดธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ในครึ่งแรกของปี 2567 จำนวนลูกค้านิติบุคคลที่ทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผ่านช่องทาง e-platform FX@Krungsri ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอีก 66% จากในปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 129% และมีสัดส่วนการซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่าน FX@Krungsri เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และการทำธุรกรรมของลูกค้ารายย่อยผ่านแอปพลิเคชัน KMA krungsri app ที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศได้ถึง 15 สกุลเงินนั้น ยังคงมีการเติบโตอย่างมั่นคง โดยในปี 2566 มียอดธุรกรรมมากกว่า 35,000 รายการ
ขณะเดียวกัน ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยและการเติบโตอย่างยั่งยืนของลูกค้าโดยผสานความร่วมมือกับ MUFG นำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงิน เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการขยายการลงทุนและธุรกิจและการดำเนินการด้าน ESG ในอาเซียน เช่น ESG-Linked Derivatives เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ในขณะเดียวกัน ยังได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมตามระดับความสำเร็จของเป้าหมาย ESG ที่ลูกค้าตั้งไว้ ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการความสนใจจากลูกค้านิติบุคคลที่มีการดำเนินการด้าน ESG เป็นอย่างดี โดยปีที่ผ่านมาได้มีส่วนในการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Green & Blue Bond) ให้กับลูกค้าที่ทำเรื่อง ESG เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ลูกค้าในกิจการการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ในปีนี้เราจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนการดำเนินการด้าน ESG ต่อไปในอนาคต โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 แม้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยจะเติบโตไม่สูงนัก แต่ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ โดยที่ยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายธุรกิจสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล ทำให้ปริมาณธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกรุงศรีเพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกของปีโตขึ้นเพียง 1% “นายฮิโรทากะ กล่าว
นายฮิโรทากะ กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมากรุงศรีฯ มีกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศสูงถึง 5,732 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2565 สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในด้านต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนเรื่อง ESG การขยายธุรกิจสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของลูกค้าและประเทศไทย
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าในช่วงที่เหลือจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 1 ครั้ง โดยในครั้งแรกเดือนก.ย. ครั้งที่ 2 เดือนธ.ค. จะทำให้เงินเยนแข็ง เงินหยวนจะอ่อน ภาพเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ส่วนไทยหากเศรษฐกิจ และ อัตราเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนยังอยู่ในกรอบ 3% คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบนอกสหรัฐฯ อาทิ ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานะการคลังของประเทศแกนหลักในกลุ่มยูโรโซน และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบอย่างมีนัยสำคัญในญี่ปุ่น อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนต่อไปในระยะสั้น
ขณะที่ ค่าเงินบาทอ่อน เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง สินค้าไทยไม่อยู่ในความต้องการของตลาด ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกลดลง เงินทุนไหลออกสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาท แต่ถ้าเฟดลดอัตราดอกเบี้ยและแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก่อนสิ้นปีนี้ให้กรอบที่ 34.50-36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และใน 3-4 ไตรมาสมาสข้างหน้า อาจจะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ คือ ผลจากการที่อัตราดอกเบี้ยโลกลดลง แต่จะไม่ได้เห็นค่าบาทแข็งขึ้นไปในระดับ 10% เหมือนอดีตในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ตอนนี้ยังเกินดุลอยู่ แม้หลังโควิดจะลดต่ำกว่าระดับ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทาง กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่าปีนี้จะอยู่ระดับ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะคิดว่าการนำเข้าไม่น่าจะโต ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะอยู่ระดับ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าอยู่ระดับที่ ธปท.คาดการณ์ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลาร์สหรัฐฯ
“ดุลบัญชีเดินสะพัด ถือเป็นจุดที่เปราะบาง ต้องรักษาไม่ให้ต่ำกว่านี้ และไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูง และหนี้ต่างประเทศยังต่ำ ทำให้บาทยังยืนอยู่ได้ไม่อ่อนมากไปกว่านี้ แต่ด้วยการเติบโตของการส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะโต 1.8% ถ้ายังต่ำต่อไปอีก อาจทำให้การเกินดุลลดลง จะไปกินส่วนของทุนระหว่างประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ซึ่งปัจจุบันความเพียงพอของทุนสำรองระหว่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีการส่งออกเลยจะอยู่ได้ 8 เดือน ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับสากลที่อยู่ระมาณ 3 เดือน ตอนนี้เรียกว่าไทยกินบุญเก่าอยู่ แม้ตัวเลขการส่งออกจะต่ำก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อนไปประมาณ 6% เท่านั้นถือว่าไม่มาก”น.ส.รุ่ง กล่าว
น.ส.รุ่ง คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการไหลออกของเงินลงทุนจากตลาดตราสารหนี้ และ ตลาดหุ้น จะลดลง เพราะครึ่งแรกของปีมีการไหลออกไปมากแล้ว ประกอบกับเฟดจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยทำให้การไหลออกของเงินทุนลดลง ประกอบกับมูลค่าหุ้นในปัจจุบันมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเพราะถูกเทขายไปมาก อาจจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกลับเข้ามาได้บ้าง รวมถึงการเมืองหากมีความชัดเจนจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้