คลังสั่งปิด”สินมั่นคงประกันภัย” ตั้งกองทุนฯชำระหนี้ 3.8 หมื่นล.

HoonSmart.com>>กระทรวงการคลัง สั่งปิดบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ตั้งกองทุนประกันวินาศภัย ชำระบัญชีหนี้สิน 3.8 หมื่นล้านบาท ให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับเงินผ่านออนไลน์ คุ้มครองหนี้สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ได้แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี

ทั้งนี้ ผลจากการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัท จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด

คปภ. แจ้งให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ทำการยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ในฐานะผู้ชำระบัญชีภายใน 60 วัน โดยจะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง

ดังนั้น จึงขอให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทติดตามประกาศของกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด ได้ที่เว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย www.gif.or.th และ Facebook Fanpage “กองทุนประกันวินาศภัย” โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพ.ค.2567 บริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีสินทรัพย์ 4,785 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 38,056 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของติดลบ 33,271 ล้านบาท ด้านอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนติดลบ 405.72% มีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 8,205 ล้านบาท มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 2,312 ล้านบาท มีภาระหนี้สินตามสัญญาประกันภัย 37,079 ล้านบาท แยกเป็น หนี้ประกันภัยโควิด 33,739 ล้านบาท หนี้ประกันที่ไม่ใช่โควิด 3,340 ล้านบาท

สำหรับ บริษัทสินมั่นคงประกันภัย มีปัญหาฐานะการเงินมาตั้งแต่ปี 2565 และทาง คปภ.ได้สั่งให้ทำการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ แต่ไม่สามารถทำการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานการเงินได้ภายในกำหนด โดยไปใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย

ในช่วงปลายปี 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สิน จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้น
ของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน คปภ. จึงสั่งให้หยุดรับประกันเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566

นอกจากนี้ บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รวมถึง ไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป จึงถูกสั่งปิดกิจการ

สำหรับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2494 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่การประกันภัยรถยนต์การประกันอัคคีภัย การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด เป็นบริษัทประกันวินาศภัยรถยนต์เป็นหลักแห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีพ.ศ.2534 ตัวย่อหลักทรัพย์ว่า SMK และในปีพ.ศ.2537 บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจด้วยความแข็งแกร่ง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมาเจอปัญหาทางการเงินจากการรับประกันภัยโรคระบาดโควิด-19 และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงต้องปิดฉากธุรกิจลง