HoonSmart.com>> ส่อง “กองทุนลดหย่อนภาษี” ช่วงครึ่งปีแรกปี 67 “กองทุน ThaiESG” เติบโตสูงสุด 27.16% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิแตะ 6,697 ล้านบาท หลังเปิดตัวปีแรกในปีก่อน ด้านกองทุน SSF เพิ่มขึ้น 10.04% แตะ 60,221 ล้านบาท ขณะที่ RMF ขยับขึ้น 1.31% มูลค่าที่ 4.26 แสนล้านบาท ด้านผลตอบแทนทุกกลุ่มกองทุน ลงทุนหุ้นไทยผลงานติดลบ สวนหุ้นต่างประเทศกำไร หุ้นเทคโดดเด่น
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกลุ่มกองทุนรวมลดหย่อนภาษีช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 สิ้นสุด 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 426,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,524 ล้านบาท หรือ 1.31% จากสิ้นปี 2566 มีมูลค่า 421,047 ล้านบาท กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 60,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,494 ล้านบาท หรือ 10.04% จากสิ้นปีที่ผ่านมาและกองทุน ThaiESG มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,430 ล้านบาท หรือ 27.16% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,267 ล้านบาท
ขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สิ้นสุดโครงการและหมดสิทธิ์ประโยชน์ภาษีไปแล้ว นักลงทุนขายกองทุนออกต่อเนื่อง ่ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงอยู่ที่ 230,879 ล้านบาท ครึ่งปีแรกลดลง 34,518 ล้านบาท หรือ -13.01% จากสิ้นปีที่ผ่านมา
ด้านผลตอบแทนกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยส่วนใหญ่ผลตอบแทนติดลบตามตลาดหุ้นไทย ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 ดัชนี SET ติดลบ 8.1% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นต่างประเทศยังสร้างผลตอบแทนเป็นบวก
สำหรับผลตอบแทนของกองทุน ThaiESG ตั้งแต่ 2 ม.ค.2567- 8 ก.ค.2567 ข้อมูลบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 32 กองทุน มีเพียงกองทุนเดียวที่ผลตอบแทนเป็นบวก ได้แก่ กองทุน KKP GB THAI ESG มีนโยบายลงทุนพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่วนกองทุนอื่นๆ ลงทุนในหุ้นหรือเป็นกองทุนผสมลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ผลตอบแทนติดลบทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง
ขณะที่ปี 2567 มีกองทุนออกใหม่ 2 กองทุน ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารภาครัฐไทย เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร เป็นต้น ได้แก่ กองทุนรวมบัวหลวงตราสารภาครัฐไทยเพื่อความยั่งยืน (B-SI-THAIESG) จากบลจ.บัวหลวง เปิดขายช่วงเดือนเม.ย. และกองทุนเปิดเค ตราสารภาครัฐ ESG (K-ESGSI-ThaiESG) จากบลจ.กสิกรไทย ที่เพิ่งปิดขาย IPO เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 กองทุนผลตอบแทนยังเป็นบวกเช่นกัน
ขณะที่กองทุน SSF จำนวนทั้งหมด 349 กองทุน ซึ่งกองทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในปีนี้ อยู่ที่ 41.36% ได้แก่กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Semiconductor (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) หรือ SCBSEMI (SSFE) ข้อมูล ณ 5 ก.ค.2567 โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มเซมิคอนดัคเตอร์ ผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ
ส่วนกองทุนที่ผลตอบแทนติดลบสูงสุด ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Genomic Revolution (ชนิดเพื่อการออม) หรือ SCBGENOME(SSF) -25.32% ข้อมูล ณ 5 ก.ค.2567 โดยกองทุนลงทุนในหุ้นการแพทย์ที่เจาะลึกถึงระดับพันธุกรรม ผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ
ส่วนกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นจำนวน 223 กองทุน พบ กองทุนเปิด ทิสโก้ เทคโนโลยี อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TTECHRMF-A) ผลตอบแทนสูงสุด อยู่ที่ 28.77% ข้อมูล ณ 5 ก.ค.2567 เน้นลงทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกผ่านกองทุนหลักต่างประเทศ ขณะที่กองทุนที่ผลตอบแทนติดลบสูงสุด ได้แก่ กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ฟิวเจอริสติก พาวเวอร์ ซัพพลาย แอนด์ โมบิลิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-POWERRMF) ติดลบ −26.65% ข้อมูล ณ 5 ก.ค.2567 โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ด้านกองทุน LTF ลงทุนหุ้นไทย ซึ่งหมดสิทธิ์ประโยชน์ภาษีไปแล้ว นักลงทุนขายกองทุนออกอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนทั้งหมด 93 กองทุน มีเพียง 5 กองทุน ผลตอบแทนเป็นบวก ข้อมูล ณ 8 ก.ค.2567 โดยกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวออลสตาร์ปันผล (KFLTFAST-D) ผลตอบแทนสูงสุด 2.95% ขณะที่กองทุนเปิดทาลิส หุ้นระยะยาว (TLLTFEQ) ผลตอบแทนติดลบสูงสุด