KTAM แจงขายทิ้งหุ้น STARK เกลี้ยง หลังพับแผนลงทุนตปท.

HoonSmart.com>> “บลจ.กรุงไทย” (KTAM) ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK รับแผนบริษัทไปลงทุนต่างประเทศ หลังมีข่าวยกเลิกแผน กองทุนตัดสินใจทยอยขายหุ้น STARK เกือบทั้งหมดในปี 65 ยันไม่ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุน พร้อมให้ความเชื่อมั่น บริหารพอร์ตลงทุนคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งด้านกระจายการลงทุน ความผันผวนของราคา

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า จากการที่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่ามีความจำเป็นต้องนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ล่าช้ากว่ากำหนด จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP (การห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว) จนทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างนั้น

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย ชี้แจงว่า จากเดิมบลจ.กรุงไทย ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK ที่มีความประสงค์ไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ภายหลังจากลงทุนแล้ว STARK ได้เปลี่ยนความตั้งใจที่จะไม่ลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อบลจ.กรุงไทย ได้รับทราบข่าวและเห็นว่าบริษัทไม่ทำตามวัตถุประสงค์เดิมที่จะนำเงินลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศ จึงทำให้ บลจ.กรุงไทย ตัดสินใจทยอยขายหุ้น STARK เกือบทั้งหมดภายในปี 2565 ซึ่งไม่ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุนแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน บลจ.กรุงไทย ถือครองเพียงใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ของ STARK ซึ่งเป็นสัดส่วนถือครองที่ไม่มีนัยสำคัญ (เป็นการได้มาตามสิทธิในอดีตโดยไม่มีต้นทุน)

บลจ.กรุงไทย ขอยืนยันให้นักลงทุกท่านเชื่อมั่นว่า การบริหารพอร์ตการลงทุนของบลจ.กรุงไทย นั้น คำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในด้านการกระจายการลงทุน ความผันผวนของราคา และปริมาณการซื้อขายของหุ้นแต่ละตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดไว้ ตลอดทั้งยังมีการติดตามข่าวสารและผลการดำเนินการของบริษัทที่ลงทุนเป็นประจำ โดยยึดผลประโยชน์ของนักลงทุนเป็นหลัก พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร บลจ.จะยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาผลประโยชน์ และคัดสรรสิ่งที่ดีโดยคำนึงถึงนักลงทุนอยู่เสมอ

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน / เอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูล และมิได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอ การขาย หรือการแนะนำให้ซื้อหรือขายผลิตภัณฑ์ใดๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง