เงินเฟ้อมิ.ย.เพิ่ม 0.62% เทียบพ.ค.-0.3% หนุนลดดอกเบี้ยบวกไฟฟ้า-ไฟแนนซ์

HoonSmart.com>>กระทรวงพาณิชย์แถลงอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนมิ.ย.ขยายตัว 0.62%YoY ลดลง 0.31% จากเดือน พ.ค.และต่ำกว่าตลาดคาด 1-1.1% จากค่าไฟฟ้า ราคาผักลดลง ส่วนราคาน้ำมันสูงขึ้น  คาดแนวโน้มไตรมาส 3 ทรงตัว  ไตรมาสสุดท้ายบวก 1% เฉลี่ยทั้งปีอยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%)  บล.หยวนต้ามองเงินเฟ้อต่ำเปิดโอกาสลดดอกเบี้ยดีต่อหุ้นปันผล ไฟฟ้าและไฟแนนซ์ 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 108.50 เพิ่มขึ้น 0.62% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.31% จากเดือน พ.ค. 2567 เนื่องจากอัตราการเปลี่ยนแปลงค่ากระแสไฟฟ้าหลังสิ้นสุดผลกระทบของฐานต่ำในเดือนก่อนหน้า และราคาผักสดลดลง จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก หลังจากสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก ทั้งนี้เงินเฟ้อ 6 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.0%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 104.73 เพิ่มขึ้น 0.36% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.01% จากเดือนก่อนหน้า รวมเฉลี่ย 6 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 0.41%

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.48% ตามราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มอาหารสด อาทิ ไข่ไก่ ผลไม้สด และผักสด ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช ไก่ย่าง ส้มเขียวหวาน หัวหอมแดง และกระเทียม เป็นต้น

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.71%  โดยเฉพาะราคากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง  ส่วนราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3/2567 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 4 น่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1% ทุกเดือน จากฐานต่ำปีก่อนที่ติดลบทุกเดือน

ปัจจัยที่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ตามสภาวะที่มีการแข่งขันสูง

ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซล กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) โดยรวมเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 52.3 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.4 ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ได้แก่ สถานการณ์ภายนอกประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัว  ธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อจากปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความกังวลต่อภาระค่าครองชีพและราคาพลังงาน

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เงินเฟ้อที่กลับมาต่ำกว่ากรอบนโยบายการเงินที่ 1-3%และกลับมาลดลงแบบ MoM ถือเป็นปัจจัยที่เปิดโอกาสให้กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วยก็ตามเราประเมินเป็นปัจจัยบวกเชิง Sentiment ต่อกลุ่ม Yield Play คือโรงไฟฟ้าไฟแนนซ์REITหุ้นปันผลสูง เช่น GPSC, INTUCH, TIDLOR, SAWAD, 3BBIF, LHHOTEL, SIRI, AP เป็นต้น