“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” แผ่วหุ้นโลกถ่วง “บลจ.ทิสโก้” คาดครึ่งหลังดีขึ้นตั้งเป้าโต 10%

HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” เผย “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” 4 เดือนแรกปี 66 มูลค่าทรัพย์สิน 1.37 ล้านล้านบาท ลดลง 9,760 ล้านบาท หรือ -0.71% จากสิ้นปี 65 ด้าน “นายจ้าง” จัดตั้งกองทุนเพิ่มขึ้น 486 ราย ฝั่ง “ลูกจ้าง” ยอดลดลง 1.75 แสนราย เหตุบลจ.ทิสโก้ปรับปรุงระบบจำนวนรายชื่อลูกค้าที่ลงทุนใน Sub Fund ลดความซ้ำซ้อน ด้านพอร์ตลงทุนทั้งระบบ หุ้นติดลบเฉียด 1.5 หมื่นล้านบาท ลดลงกว่า 6.09% จากหุ้นทั่วโลกร่วง ด้าน “บลจ.ทิสโก้” ชี้สัญญาณดีลูกค้าใหม่ตั้งกองทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หวังสถานการณ์ลงทุนครึ่งปีหลังดีขึ้น พร้อมตั้งเป้า AUM เติบโต 10% ส่วนอุตสาหกรรมคาดโต 5%

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยภาพรวมธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 สิ้นสุด 30 เม.ย.2566 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,373,143.73 ล้านบาท (เงินในส่วนของสมาชิกและนายจ้าง) ลดลง 9,760.60 ล้านบาท หรือ -0.71% จากสิ้นปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,382,904.33 ล้านบาท โดยมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 390 กองทุน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 387 กองทุนและมีจำนวนนายจ้าง 22,865 ราย เพิ่มขึ้น 486 ราย จากสิ้นปีก่อนมีจำนวน 22,379 ราย

ขณะที่สมาชิกกองทุน (ลูกจ้าง) ลดลง 174,450 ราย เหลือ 2,830,621 ราย จากสิ้นปีก่อนมีจำนวน 3,005,071 ราย ทั้งนี้ จำนวนลูกจ้างในระบบลดฮวบตั้งแต่เดือนม.ค.2566 จากบลจ.ทิสโก้ที่ลดลง 157,784 ราย ซึ่งบลจ.ทิสโก้มีการปรับปรุงระบบนับจำนวนลูกค้าแต่ละราย เพื่อลดความซ้ำซ้อนกรณีลูกค้ามีการลงทุนในหลายกองทุนรวม

สำหรับเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบมีการกระจายลงทุนอยู่ในหุ้นกู้สูงสุด 382,397.68 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 15,295.00 ล้านบาท หรือ 4.17% จากสิ้นปีก่อน รองลงมาลงทุนในพันธบัตร ตั๋วเงินคลังและตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันมูลค่าทั้งสิ้น 370,809.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,446.62 ล้านบาท หรือ 0.94% หุ้นสามัญมูลค่า 231,222.78 ล้านบาท ลดลง 14,994.42 ล้านบาท หรือ -6.09% หน่วยลงทุน 243,899.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,295.00 บาท หรือ 4.17% เป็นต้น

ด้านบริษัทจัดการที่เป็นสมาชิกสมาคม AIMC ทั้งหมด 17 บริษัท โดย 5 อันดับแรกทีมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ได้แก่ บลจ.ทิสโก้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 530,598 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด อันดับหนึ่งอยู่ที่ 17.74% รองลงมา บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 233,632.88 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 17.01% อันดับสาม บลจ.ไทยพาณิชย์ 191,542.29 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 13.95% อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย 159,320.94 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 11.60% และอันดับห้า บลจ.เอ็มเอฟซี 106,152.40 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 7.73%

นางแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ เปิดเผย “HoonSmart” ว่า จำนวนสมาชิก (ลูกจ้าง) ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลดลงนั้น เนื่องจากบลจ.ทิสโก้ ได้ปรับปรุงระบบนับจำนวนสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ในราย Sub Fund หรือกองทุนรวมที่ลงทุนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งลดความซ้ำซ้อนของจำนวนสมาชิกลง จากเดิมสมาชิกที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการลงทุนหลายนโยบายผ่านกองทุนรวม ซึ่งระบบก็จะนับจำนวนชื่อจากรายกองทุนรวม ทำให้มีชื่อซ้ำ แต่ระบบใหม่จะสะท้อนภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับภาพรวม 4 เดือนแรกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงนั้น อาจเกิดจากเงินลงทุนในส่วนของหุ้นที่ติดลบจากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งปัจจุุบันลูกค้าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ที่ผ่านมาผลตอบแทนไม่ค่อยดี แต่ตอนนี้ดีขึ้นหลังจากทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้สิ้นสุดแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องจากหลายปัจจัยและล่าสุดการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งคาดว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังสถานการณ์ลงทุนน่าจะดีขึ้น ส่งผลบวกต่อเงินลงทุนโดยรวม

ด้านจำนวนลูกค้าใหม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยในส่วนของบลจ.ทิสโก้เองมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งปีก่อนมีจำนวน 300 บริษัทต่อปี จากช่วงโควิด-19 ที่ลดลงเหลือระดับ 200 กว่าบริษัท ซึ่งตั้งเป้าปีนี้ไว้ที่ระดับ 300 บริษัทและมีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิระดับ 10% ในทุกๆ ปี

“บลจ.ทิสโก้ ยังรักษาส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี บลจ.ทิสโก้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี ขณะที่ 5 ปีย้อนหลังบลจ.ทิสโก้เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีเช่นกัน ขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ส่วนปี 2566 นี้คาดหวังการเติบโต 10% เช่นเดิม ส่วนอุตสาหกรรมคาดว่าเติบโต 5% ซึ่งผู้จัดการกองทุนของบลจ.ทิสโก้ มองแนวโน้มครึ่งปีหลังสถานการณ์การลงทุนน่าจะดีขึ้นได้ จากวันนี้มีหลายปัจจัยที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการเมืองที่ตลาดหุ้นมักไม่ชอบอะไรที่ไม่ชัดเจน”นางแขขวัญ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนภาคบังคับ เพื่อให้คนไทยมีเงินออมเพียงพอยามเกษียณ ที่ผ่านมาครม.อนุมัติในหลักการแล้ว แต่ยังต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ เพื่อนำเรื่องเข้าครม.อีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ลูกค้าใหม่ก็มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่อง

ด้านด้านผู้บริหารจากบลจ.รายหนึ่ง กล่าวว่า ภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพช่วง 4 เดือนแรกไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ผิดปกติ จำนวนนายจ้างยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัวหลังผ่านโควิด-19 รวมถึงธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและกลับมาส่งเงินสมทบได้ปกติ

“ปกติเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเติบโตจาก 2 ส่วน คือ เงินที่สมาชิกและนายจ้างใส่เข้ามาทุกเดือน และอีกส่วนมาจากผลตอบแทนจากเงินที่กองทุนนำไปลงทุน ซึ่งสมาชิกหรือลูกจ้างบางรายก็มีการลงทุนในหุ้น ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงก็กระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนเช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ แต่เมื่อแนวโน้มการลงทุนดีขึ้น เงินลงทุนกลบมาบวกก็ทำให้ AUM โดยรวมปรับเพิ่มขึ้น”ผู้บริหารบลจ.กล่าว