ตามคาด! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ถึงรอบเชียร์ SCB เป้า 130-160 บ.

HoonSmart.com>>ไม่พลิกล็อก! กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% รวม 6 ครั้งติดต่อกัน สอดคล้องเศรษฐกิจฟื้นตัว ยังไม่ส่งสัญญาณหยุดหรือขึ้นต่อ จับตานโยบายรัฐบาลใหม่เปลี่ยนแปลง ค่ายกสิกรไทยคาดดอกเบี้ยนิ่งที่ 2% ส่วนไทยพาณิชย์คาดไปต่อแตะ 2.5%ไตรมาส 3  รายได้ดอกเบี้ยสุทธิแบงก์เบ่งบาน บล.กรุงศรี-บล.ทิสโก้ เชียร์ SCB -BBL โดดเด่น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประชุมในวันที่ 31 พ.ค. 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี  โดยนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า กนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) มาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะขยายตัวไม่เต็มที่ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความไม่แน่นอนในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นการปรับดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายให้ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ และยั่งยืน

นายปิติกล่าวยอมรับว่า ในที่ประชุม กนง.ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการมีรัฐบาลใหม่ โดยมีการวิเคราะห์ Scenario ต่างๆ ทั้งนโยบายด้านอุปสงค์ และนโยบายด้านอุปทาน เพื่อชั่งน้ำหนักของความเสี่ยงทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะสามารถฟันธงได้ว่าจะมีการหยิบยกนโยบายใดขึ้นมาใช้บ้าง  เนื่องจากยังจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จ  ดังนั้น กนง.ขอรอดูความชัดเจนให้มากกว่านี้ก่อน  ส่วนประเด็นความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก

” ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การมีรัฐบาลใหม่ และความมั่นใจของนักลงทุน  อาจจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ต้องดูความชัดเจนในระยะต่อไปด้วย” นายปิติ ระบุ

ด้านห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า ธปท. มีท่าทีที่ยังอยาก Normalize ต่อเนื่อง  แต่ประเมินโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้จะน้อยลงมากขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกเข้าใกล้จุดสูงสุด (Terminal rate) ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลายปีนี้ ยังคงกดดันการดำเนินนโยบายของธปท. โดยความไม่แน่นอนจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งหน้าในอีกสองเดือนค่อนข้างสูง  ทำให้ค่อนข้างระมัดระวังในการพูดถึงการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป โดยกสิกรฯยังคงคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่ากนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. ส.ค.และก.ย.สู่ระดับ Neutral rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3  จากนั้นจะคงไว้เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขยับตาม ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)เพิ่มขึ้น โดยบล.กรุงศรีอยุธยายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารมากกว่ากลุ่มอื่น (OVERWEIGHT) แนะนำหุ้นเด่นเลือก SCB (ราคาเป้าหมาย 160 บาท) และ BBL (ราคาเป้าหมาย 180 บาท)

“กลุ่มธนาคารจะได้แรงส่งจาก NIM ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลายระลอก แต่โมเมนตัมการเติบโตของสินเชื่อที่แผ่วลงอาจจะเป็นตัวฉุดรั้ง อย่างไรก็ตามราคาหุ้นยังมี upside อีกมากและแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการปีนี้ยังถือว่าดีกว่ากลุ่มอื่น”

สำหรับการขยายสินเชื่อของ  7 ธนาคารใหญ่ในเดือนเม.ย.หดตัวลงอีก 0.1% mom และลดลง 0.8% ytd โดยสินเชื่อของ TISCO ขยายตัวมากที่สุด 3.2% ในขณะที่ BBL และ TTB ลดลงมากที่สุดที่ 1.3% ทั้งนี้ เมื่อเทียบ ytd สินเชื่อของ KKP ขยายตัวได้ดีสุดที่ 4.5% รองลงมาคือ TISCO 3.8% ytd ขณะที่ธนาคารที่มีสินเชื่อหดตัวมากที่สุดคือ BBL ลดลง 3.0% ytd และ TTB ปรับตัวลง 2.7% ytd  มองว่าธนาคารต่าง ๆ จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการที่จะขยายสินเชื่อให้ได้ตามเป้า โดยเฉพาะ BBL และ TTB ซึ่งตั้งเป้าปีนี้เติบโต 4% อุปสงค์สินเชื่ออ่อนแอในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

บล.ทิสโก้ชอบหุ้นกลุ่มธนคาร แนะซื้อ BBLให้มูลค่าเหมาะสม 173 บาท ,SCB มูลค่า 130 บาท ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และธุรกิจใหม่ที่เติบโต ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงน่าสนใจในตอนนี้ คาดว่าราคาหุ้นจะเริ่มมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ KKP ก็น่าสนใจคาดว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อดำเนินตามกลยุทธ์การเติบโตของสินเชื่อรถยนต์ ต้องติดตามว่าจะเกิดการใช้สิทธิของ KKP-W5 และ KKP-W6 หรือไม่ ทั้งนี้ KKP-W5กำหนดให้ใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้นได้เพียงครั้งเดียววันที่ 17 มี.ค. 2567 ที่ราคา 70 บาท หลังฝ่ายบริหารคาดธนาคารจะขาดเงินทุนประมาณกลางปี หากไม่มีการใช้สิทธิ ธนาคารอาจจะไม่สามารถรักาากลยุทธ์การเติบโตของสินเชื่อในปัจจุบันได้ หรือต้องการเงินทุนผ่านช่องทางอื่น ต้องจับตาว่าราคาหุ้น ณ วันใช้สิทธิจะเกินกว่าราคาใช้สิทธิหรือไม่ หากใช้สิทธิจะได้เงินสดเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท

สำหรับการตั้งสำรองหนี้ STARK ผลกระทบต่อ KBANKและ SCB ควรจะจบลง ซึ่งในที่ประชุมนักวิเคราะห์ ทั้งสองธนาคารชี้แจงว่าได้ตั้งสำรองความเสี่ยงไว้แล้ว แต่ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด