HoonSmart.com>>คปภ.-สมาคมประกันวินาศภัย เผยราคารถ EV ลด ทำให้ทุนประกันภัยลด เบี้ยต้องลดตาม แต่ค่าซ่อมไม่ลด แถมยังมีต้นทุนนำเข้าอะไหล่เพิ่ม เคลมสูง 90-100% สาเหตุที่ต้องระมัดระวังการรับประกันภัย
นายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการ ด้านกำกับธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ และราคารถยนต์ไฟฟ้า ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและลงแรงมาก
แม้ว่าทุนประกันภัยและเบี้ยประกันภัยจะลดลงตามราคารถยนต์ แต่ต้นทุนค่าซ่อมไม่ได้ลดลงตาม เพราะอะไหล่ต้องสั่งซื้อจากประเทศผู้ผลิต และยังมีค่าขนส่งอีก เพราะในไทยยังไม่มีการผลิตอะไหล่รถ EV ที่นำเข้ามา และประชาชนต้องใช้เวลาในการรออะไหล่ รวมทั้งรถบางยี่ห้อต้องซ่อมที่ศูนย์ของยี่ห้อนั้นๆ เท่านั้น
ที่ผ่านมา ทางคปภ.มีการเตือนบริษัทประกันภัยให้ระมัดระวังการรับประกันภัยรถ EV ให้ยึดเกณฑ์ความเสี่ยงที่แท้จริง ไม่ใช่เห็นเบี้ยถูกแล้วจะใช้ราคาในการแข่งขัน เพราะบริษัทประกันวินาศภัยมีขนาดไม่เท่ากัน ความสามารถในการรับประกันภัยไม่เท่ากัน
นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารถเก๋งที่เป็นรถ EV รถใหม่ป้ายแดงที่ผู้จำหน่ายรถยนต์แถมให้กับลูกค้า มีอัตราการเคลม 90%-100% โดยมีเบี้ยเฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 20,000 บาท ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ และราคารถก็ลดลง ทำให้เบี้ยลดลงตาม บริษัทประกันภัยมีความระมัดระวังในการรับประกันภัยมากขึ้น ไม่ผลีผลามเหมือนเมื่อก่อน
อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยยังรับไหวเพราะจำนวนรถยังไม่มากและเป็นรถปีแรก มีประมาณ 6 หมื่นคัน แต่ถ้าปีนี้มีการทำประกันเพิ่มอีก 100,000 คัน ถ้าเคลมยังไม่ลดลง ก็จะต้องหารือร่วมกันระหว่าง ผู้ผลิตรถ EV ผู้จำหน่ายรถ EV และบริษัทประกันภัย ถึงเรื่องราคาอะไหล่ ค่าซ่อม ที่ปัจจุบันยังสูงมาก
“บริษัทประกันพยายามบริหารตลาดที่คุ้นเคยมากขึ้น ซึ่งรถ EV ไม่ได้มีปริมาณเยอะเมื่อเทียบกับรถสันดาป และยังมีความไม่แน่นอนเรื่องของเคลม ส่วนรถสันดาปเห็นอยู่แล้วว่าภาพเป็นอย่างไร เพราะทำมาเป็นสิบสิบปี พอประมาณการได้ ก็มั่นใจกว่า การรับประกันรถ EV”นายวาสิต กล่าว
นายวาสิต กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทประกันภัย เริ่มเห็นแล้วว่ารถ EV แต่ละยี่ห้อ ค่าซ่อม และค่าอะไหล่ต่างกันมาก บางยี่ห้อค่าซ่อมสูงปรี๊ด จึงต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น
คุ้มภัยโตเกียวฯย้ำยังรับประกันรถ EV
ด้านบริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ประกาศหยุดรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นั้น บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความชัดเจน ดังต่อไปนี้
บริษัทฯ ยังคงรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และได้แจ้งเปลี่ยนแปลงแนวทางการเสนอเบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยบริษัทฯ ขอพิจารณาจากปัจจัยเรื่องความผันผวนของราคารถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง และรถยนต์มือสอง ที่ส่งผลกระทบต่อทุนประกันภัยและให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แจ้งแนวทางการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าดังนี้
ลูกค้าปัจจุบัน (ต่ออายุ) บริษัทฯ จะดูแลการต่ออายุประกันภัยตามปกติ โดยเบี้ยประกันภัยรถยนต์จะพิจารณาจากประวัติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
ลูกค้ารายใหม่ (ป้ายดำ/โอนย้าย) บริษัทฯ ขอระงับการใช้อัตราเบี้ยประกันภัยตามอัตราเบี้ยสำเร็จรูปที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ชั่วคราว โดยทุกท่านยังสามารถสอบถามอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับงานโอนย้ายผ่านเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้ โดยจะพิจารณาทุนประกันและเสนออัตราเบี้ยประกันภัยเป็นกรณี ๆ ไป
สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ บริษัทฯ ยังคงรับประกันภัยและดูแลลูกค้าทุกรายที่เข้าร่วมโครงการกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ ตามพันธกิจที่มีต่อคู่ค้าและลูกค้า
ทั้งนี้ บริษัทฯ กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อให้สามารถนำเสนออัตราเบี้ยประกันภัยและทุนประกันภัยที่เหมาะสมได้ในอนาคต
“แนวทางข้างต้นเป็นเรื่องของการปรับกลยุทธ์ในการรับประกันภัยตามปกติ เพราะราคารถ EV ปรับลดลงมามาก และไม่รู้ว่าจะลงอีกไหม ค่าซ่อมยังสูง จึงต้องปรับทบทวนการคิดเบี้ยกันใหม่ จากเดิมใช้เบี้ยสำเร็จรูปอิงประกันรถสันดาป ต่อมาคปภ.กำหนดอัตราเบี้ยรถ EV ขึ้นมาใหม่ บริษัทจึงต้องปรับมาใช้อัตราที่คปภ.กำหนด และการคิดคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นกรณีๆ ก็เป็นหลักการพิจารณาการรับประกันภัยตามความเสี่ยงให้ทันสถานการณ์”แหล่งข่าวจากบริษัทคุ้มภัยโตเกียวมารีน ประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯมีการรับประกันภัยรถยนต์ EV ป้ายแดงกับ 3 ยี่ห้อที่ติดท็อป 5 ในตลาดไทยอยู่ในขณะนี้ มีการดูแลลูกค้าอย่างดี มีเหตุน้ำท่วมภูเก็ต มีรถ EV ที่แบตเตอรี่เสียหาย 3 คัน บริษัทจ่ายค่าสินไหม 100% โดยบริษัทยังทำงานร่วมกับคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรตามปกติ