กองทุน ESG ในไทยมูลค่ารวม 7 หมื่นลบ. – Thai ESG ขนาดสินทรัพย์ 6.8 พันล้าน

โดย…ธิดาศิริ ศรีสมิต
รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย

 

 

ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มูลค่า AUM ของกองทุนรวมในประเทศไทยที่มีกลยุทธ์การลงทุนเน้นปัจจัยด้าน ESG มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3% ของมูลค่า AUM กองทุนรวมทั้งหมดที่ 5.3 ล้านล้านบาท (ที่มา: สมาคมบริษัทจัดการลงทุน) โดยประมาณ 60% เป็นกองทุนรวมประเภท Feeder Fund ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศซึ่งได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2564 กว่า 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ก่อนหน้าปี 2564 กองทุนรวมที่มีกลยุทธ์เน้นทางด้าน ESG ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนในประเทศและเน้นปัจจัยด้านธรรมาภิบาลเป็นหลัก เนื่องจากในอดีตการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนไทยรวมถึงตัวชี้วัดในด้านสังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) เพื่อนำมาใช้ในการประวิเคราะห์และประเมินมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเด็นในด้านธรรมาภิบาล (Governance) ต่างกับในภูมิภาคยุโรปหรืออเมริกาที่ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเป็นวงกว้างซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากค่านิยมและวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญรวมถึงระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ประกอบกับหน่วยงานที่กำกับดูแลได้มีการเริ่มออกกฏเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและบังคับใช้แล้วมาเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่าย

ดังนั้นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจะเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนแบบ ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่เป็นวงกว้าง

สำหรับการเติบโตของกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์ที่เน้นด้าน ESG ที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทั้งในด้าน AUM และจำนวนกองทุนไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากปี 2561 ภายหลังมีการจัดตั้งกองทุน Thai CG ธรรมาภิบาลไทยซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 11 บลจ. ภายใต้การนโยบายการลงทุนที่เน้นเรื่องธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่น จนมาถึงปลายปี 2566 ที่ทางรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยมีการอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ซึ่งมีสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทำให้อุตสาหกรรมมีการออกกองทุน Thai ESG มาเสนอขายผู้ลงทุนกว่า 30 กองทุน โดย ณ สิ้นเดือน พฤษภาคม 2567 ทั้งอุตสาหกรรมมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกว่า 6.8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามมูลค่ากองทุนรวมในประเทศไทยที่มีกลยุทธ์การลงทุนเน้นปัจจัยด้าน ESG ยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำคิดเป็นแค่ประมาณ 1.3% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมกว่า 5.3ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนทั่วโลกที่คิดเป็น 24.4% ของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งหมด ณ สิ้นปี 2565 ที่ 124.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา: อ้างอิงจาก Global Sustainable Investment Review 2022 by GSIA)

อย่างไรก็ตามสำหรับ ข้อมูลภาพรวมของโลกสำหรับกองทุน Sustainable Investment อาจแตกต่างกันขึ้นกับแหล่งที่มาและวิธีการรวบรวม

• หลังจาก บลจ.กสิกรส่งกอง Thai ESGสู่ตลาด จนถึงปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้าง

ภายหลังจาก บลจ. กสิกรไทยมีการออกกองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน (K-TNZ-ThaiESG) ไปเมื่อปลายปี 2566 ซึ่งเป็นกองทุนแรกของไทยที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนมีเป้าหมายในการช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขณะที่มุ่งสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี SET100 TRI โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ทางบริษัทจัดการได้มีการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบกองทุนเปิดทั่วไป ชื่อ กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย-A ชนิดสะสมมูลค่า หรือ K-TNZ-A(A) เพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนเพิ่มเติมจากกองทุนประเภทภาษีในกลยุทธ์เดียวกัน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 ทั้ง 2 กองทุนมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกันประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยกองทุน K-TNZ-ThaiESG มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมในกลุ่มกองทุน ThaiESG

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและสังคมที่ยั่งยืนมีความต้องการใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งอีกหนึ่งในแหล่งการระดมทุนที่ได้รับความสนใจ นั่นคือ การออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน หรือ ESG Bond ซึ่งในประเทศไทยมีการออกทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง และมีการเติบโตอย่างชัดเจน ทาง บลจ. กสิกรไทยจึงได้ออกเสนอกองทุน ThaiESG กองที่ 2 คือ “K-ESGSI-ThaiESG” เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับนักลงทุน โดยกองทุน K-ESGSI-ThaiESG เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ มีนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐของไทยในกลุ่มความยั่งยืนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% โดยจะมีการเสนอขาย IPO ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. – 1 ก.ค. นี้

• ความคืบหน้าหลังจากการประกาศความร่วมมือด้านการลงทุนเพื่อความยั่งยืนกับลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในต้นปีที่ผ่านมาทาง บลจ. กสิกรไทยได้มีการส่งผู้บริหารและบุคลากรจากทีมจัดการลงทุนรวมไปถึงฝ่ายวิเคราะห์ความเสี่ยงไปอบรมในเรื่องการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) ในเชิงลึกและปฏิบัติงานร่วมกับทาง Lombard Odier Investment Managers ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นเวลากว่า 3 เดือน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะในเรื่องการลงทุนเพื่อความยั่งยืนตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อนำมาช่วยปรับปรุงกระบวนการจัดการลงทุนรวมไปถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากหลักการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจจะต้องไม่ทิ้งความเสียหายไว้ให้กับโลก และคำนึงถึงคนรุ่นหลัง ดังนั้นการมองทรัพยากรธรรมชาติเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ และฐานะนักลงทุนเราสามารถหาโอกาสและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนจากการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ โดย Lombard Odier ได้เรียกโมเดลเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืนนี้ว่า “CLIC Economy” ซึ่งย่อมาจาก

o Circular (C): การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน
o Lean (L): การลดความสูญเปล่าหรือการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
o Inclusive (I) : ความเท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
o Clean (C) : เศรษฐกิจบนสิ่งแวดล้อมสะอาด

ทั้งนี้การพิจารณาความยั่งยืนบนกรอบและหลักเกณฑ์ด้าน ESG เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะมองหาธุรกิจที่จะเป็นผู้ชนะในระยะยาวได้ การลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคตในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Transition to Sustainable Economy) หรือเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) เช่น แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยพิจารณาจากความสามารถของบริษัทในการบริหารจัดการต้นทุน การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และการใช้ประโยชน์จากโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีที่มี ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับแผนงานทางธุรกิจของบริษัทในการขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตควบคู่ไปกับแนวปฏิบัติของบริษัทในปัจจุบัน

กองทุน K-TNZ-A(A) และ K-TNZ-ThaiESG เป็นหนึ่งในผลงานที่เกิดจากความร่วมมือด้านการลงทุนเพื่อความยั่งยืนระหว่าง บลจ.กสิกรไทย กับ Lombard Odier ในฐานะพันธมิตรที่ปรึกษา โดย บลจ.กสิกรไทย ได้นำโมเดลของ Lombard Odier ซึ่งได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาปรับใช้ในกระบวนการคัดเลือกหุ้นและบริหารจัดการกองทุน โดยกองทุนมีกลยุทธ์ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีส่วนช่วยและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ผ่านกลยุทธ์การบริหารจัดการแบบเชิงรับ (Passive Management) เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด SET100 TRI โดยจากการที่ให้น้ำหนักในหุ้นที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน ส่งผลให้พอร์ตลงทุนมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการคาดการณ์เพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ (Implied Temperature Rise) ที่ต่ำกว่าดัชนีชี้วัด

ทั้งนี้ บลจ. กสิกรไทยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันเพื่อให้เกิดความสำเร็จไม่ว่าจะการกำหนดนโยบายและกฏเกณฑ์จากภาครัฐ ความต้องการของผู้บริโภค แรงสนับสนุนจากนักลงทุนและสถาบันการเงิน ตลอดจนความมุ่งมั่นและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากภาคธุรกิจจึงจะบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ตามเป้าหมาย