บล.ทรีนีตี้มองหุ้น 1240-1430 เชียร์ 4 กลุ่ม ฟันด์โฟลว์-เงินฝากตปท. 8 แสนล.ไหลกลับQ4

HoonSmart.com>>บล.ทรีนีตี้มองไตรมาส 4 เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงเงินฝากในต่างประเทศของคนไทยและกองทุนรวม 8.2 แสนล้านบาทจะไหลกลับมา เมื่อ earning yield gap ของตลาดหุ้นไทย เทียบกับบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐ ที่ค่าเฉลี่ยที่ 3.24% แคบลง  บจ.มากกว่า 100 แห่งจ่ายเงินปันผลสูง 6-8% โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร  แนะนำหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร โทรคมนาคม ไฟฟ้า โรงพยาบาล ชอบ KTB,SCB GPSC ,BGRIM ตลาดคาดปีหน้าเฟดลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง 

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒน์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรีนีตี้ วัฒนา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดครึ่งปีหลังเติบโตดี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ขยายตัว 4 % หนุนตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น นำโดยนักลงทุนสถาบัน คาดดัชนีเคลื่อนไหว 1240-1430 จุด มองตลาดเป็น K Shape และแนะนำหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร โทรคมนาคม ไฟฟ้า โรงพยาบาล

สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ คาดเงินจะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยไตรมาสที่ 4 ส่วนไตรมาสที่ 3 จะเบาบางลงทั้งภูมิภาค เนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงรอสัญญาณการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเลือกตั้งสหรัฐ

“นักลงทุนต่างชาติอาจจะเริ่มสนใจหุ้นไทย เมื่อ earning yield gap ของตลาดหุ้นไทย เทียบกับบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐ ที่ค่าเฉลี่ยที่ 3.24%  แคบลง หรือระดับดัชนีที่ 1250  หากเฟดลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้ และถึง 3 ครั้งในปีหน้า ขณะที่ไทยคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จะมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในปลายไตรมาสที่ 4 โดยมีบจ.นับ 100 บริษัท ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 6-8% โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่มีปันผลสูง  ชอบ KTB,SCB, GPSC, และ BGRIM ส่วนเม็ดเงินของคนไทยที่ไหลออกไปฝากเงินต่างประเทศรวมถึงเงินที่ลงทุนผ่านกองทุน ออกไปหาผลตอบแทนสูง รวมประมาณ 8.2 แสนล้านบาท จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในไทย “นายวิศิษฐ์กล่าว

ส่วนการถึงวาระครบ 27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และครบรอบลอยตัวค่าเงินบาทวันที่ 2 ก.ค. 2540 นายวิศิษฐ์มองว่า เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ดูจากมูลค่าตลาดทุน (มาร์เก็ตแคป) ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 24% มาสู่ 97% ของ GDP รวมประเทศ ตลาดตราสารหนี้มีการพัฒนาอย่างมากจากมูลค่าต่ำกว่าล้านล้านบาทในปี 2540 มาสู่ระดับ 17 ล้านล้านบาท หรือ 95% ของ GDP ในปัจจุบัน

ภาพการระดมทุนมีความสมดุลมากขึ้นทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุนและสินเชื่อธนาคาร ขณะที่ทุนสำรองต่อ GDP มีความแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 44% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 18% ของ GDP ในช่วงปี 2540 ดุลเดินสะพัดมีความแข็งแกร่ง (บางปีถึง 10% ของ GDP) แต่ในส่วนของดุลบัญชีทุนเริ่มอ่อนแอลงนับตั้งแต่ปี 2556

ด้านหนี้สินภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่งขึ้นจาก 175% ของ GDP ลงมาสู่ 95% ของ GDP ในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 197% GDP ในปีกลางปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิช่วงปี 2540 มาสู่ระดับ 80-90 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาสู่ระดับ 91% ของ GDP ในปัจจุบัน และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน

นายวิศิษฐ์กล่าวถึงมูลค่าการซื้อขายของตลาดทุนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับมาร์เก็ตแคปอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี นักลงทุนไทยสัดส่วนซื้อขายลดลงจาก 47% มาสู่ระดับ 31% ภาวะตลาดครึ่งปีแรกได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดในด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกไปแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท