SGC เพิ่มทุนก้อนใหญ่ 5,232 ล้านหุ้น ระดม 8,829 ล้านบ.-กู้ SINGER 6.1 พันลบ.

HoonSmart.com>>บอร์ด”เอสจี แคปปิตอล” (SGC) เพิ่มทุนครั้งใหญ่  5,232 ล้านบาทเป็น 8,502 ล้านบาท  ขายผู้ถือหุ้นเดิม 1 ต่อ 1 ราคาส่วนลด 15% แจกวอร์แรนต์ ระดมเงินรวม 8,829 ล้านบาท ชำระคืนซิงเกอร์ปีนี้ 5,000 ล้านบาท ขอกู้ SINGER อีก 6,100 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี  เติมสภาพคล่อง เตรียมชำระหุ้นกู้ที่จะครบอายุปี 68 ด้านบล.กรุงศรีมองลบเพิ่มทุนคืนหนี้  ส่วน SINGER ต้องใส่เงิน 3,800 ล้านบาทตามสิทธิ อาจจะต้องกู้เพิ่ม D/E ลามหุ้นกลุ่มเจมาร์ทร่วงแรงยกแผง 

บริษัท เอสจี แคปปิตอล (SGC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน จำนวน 5,232 ล้านบาท จากเดิม 3,270 ล้านบาท เป็นทุนใหม่ จำนวน 8,502 ล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 5,232 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จัดสรรให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิม ไม่เกิน 3,270 ล้านหุ้น  สัดส่วน 1 ต่อ 1 ราคาเสนอขายที่มีส่วนลดไม่เกิน 15% จากราคาตลาด  โดยคณะกรรมการบริหารเป็นผู้กำหนดราคาเสนอขายในภายหลัง ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร  (Record Date) เป็นวันที่ 19 ส.ค.2567

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน ครั้งที่ 1 (SGC-W1) ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (ก่อนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้) จำนวนไม่เกิน 654 ล้านหุ้น สัดส่วน  5 หุ้นเดิมต่อ SGC-W1 1 หน่วย  อายุ 1 ปี  ราคาแปลงสภาพให้ส่วนลด 10% ของราคาตลาด และรองรับการใช้สิทธิ SGC-W2 ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนรอบนี้ 1,309 ล้านหุ้น  ในอัตราส่วน 2.5 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ SGC-W2 1 หน่วย ทั้งนี้ SGC-W2 จะมีอายุ 3 ปี  ราคาใช้สิทธิที่มีส่วนเพิ่ม 10% ของราคาตลาด ณ วันกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ คาดจะระดมทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2567  ทั้งนี้ราคาหุ้น SGC ล่าสุด 1 ก.ค. ปิดที่ 1.82 บาท

วัตถุประสงค์ของการระดมทุน บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (จำนวนไม่เกิน 4,905 ล้านบาท) เงินรับจากการใช้สิทธิแปลงสภาพ SGC-W1(จำนวนไม่เกิน 1,177.20 ล้านบาท) และ SGC-W2(จำนวนไม่เกิน 2,746.80 ล้านบาท) รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 8,829 ล้านบาท นำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากบริษัทใหญ่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาทภายในปี 2567 และนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติอนุมัติการรับความช่วยเหลือทางการเงิน โดยการเข้าทำสัญญาเงินกู้กับบริษัทซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) ซึ่งถือหุ้นบริษัท 74.92% ในวงเงินไม่เกิน 6,100 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี (ชำระคืนภายในปี 2571) อัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิง MLR บวกส่วนต่าง 0.25% ต่อปี หรือต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงของ SINGER บวกส่วนต่าง 0.25% ต่อปี เพื่อใช้รักษาสภาพคล่องทางการเงิน และ/หรือใช้เป็นวงเงินทดแทนภาระหนี้ของบริษัทในส่วนที่จะครบกำหนดในปี 2568 โดยบริษัทสามารถทยอยเบิกเงินกู้เพื่อทดแทนภาระหนี้เงินกู้เดิมได้เท่านั้น

คณะกรรมการบริษัทคาดว่า บริษัทจะดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นแต่ละราย โดยไม่จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปี 2567รวมถึงการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ SGC-W1 และ SGC-W2 ภายในเดือนกันยายนปี 2567 ซึ่งมีกำหนดอายุ 1 ปีและ 3 ปี ตามลำดับ

ด้านนายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล  กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกเดินหน้าตามแผน เข้าสู่ช่วงเทิร์นอะราวด์ และเป็นไปตามกลยุทธ์ มุ่งเน้นธุรกิจที่ให้ดอกเบี้ยรับสูงขึ้น การควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ การเรียกเก็บเงิน การควบคุมต้นทุน สะท้อนมาที่พอร์ตสินเชื่อใหม่เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยโฟกัสสินเชื่อ “เอสจี ไฟแนนซ์พลัส (SG Finance+)” โดยตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบผ่านร้านมือถือชั้นนำทั่วประเทศ (Nationwide) ไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับดี ปล่อยสินเชื่อได้กว่า 18,000 สัญญา  ยอดรวมกว่า 168 ล้านบาท สนับสนุนครึ่งปีแรกปล่อยสินเชื่อได้กว่า 30,000 สัญญา และมียอดสินเชื่อรวมกว่า 280 ล้านบาท ผ่านร้านค้าพันธมิตรครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 2,900 แห่ง ซึ่งคาดการณ์จะเติบโตแตะ 5,000 แห่งภายในสิ้นปี 67

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ได้จับมือพันธมิตรแบรนด์มือถือชั้นนำเพิ่มเติม ในแบรนด์ Realme สนับสนุนให้ในเดือนก.ค.มีแบรนด์มือถือที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4 แบรนด์ ได้แก่ Oppo, Vivo, Xiaomi และ Realme ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยรวมกันประมาณ 55% เพิ่มโอกาสการเติบโต สนับสนุนความต้องการสินเชื่อ SG Finance+

“บริษัทมีแผนลดการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (C4C) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย EIR ต่ำ และมีการแข่งขันสูงกว่า อีกทั้งมีระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อประมาณ 4-5 ปี ส่วนสินเชื่อ SG Finance+ อัตราดอกเบี้ย EIR สูงกว่า ปล่อยเพียง 1-2 ปี สะท้อนรายได้ดอกเบี้ยรับมากกว่าเท่าตัว และเงินสดกลับเข้ามาที่บริษัทฯ เร็วขึ้น และอนุมัติเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติดี จึงมองเป็นโอกาสในการเติบโต สนับสนุนเป้าหมายในปี 67 จะพลิกกลับมาเป็นบวก ด้วยคุณภาพ NPL อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง”นายอโณทัยกล่าว

บล.กรุงศรีมีมุมมอง “ลบ” เนื่องจากการเพิ่มทุนเป็นเพียงการปรับโครงสร้างทางการเงินให้ SGC แข็งแกร่งและมีฐานทุนเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่เพิ่มทุนหลักคือ SINGER (ถือ SGC 74.9%) ขณะที่วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการเพิ่มทุนราว 5,000 ล้านบาท (ไม่รวม W1 +W2) หลักๆ คือ เพื่อชำระหนี้เงินกู้กลับให้กับ SINGER เอง (ไตรมาส 1/67 SGC มีหนี้กับ SINGER เพื่อขยายธุรกิจราว 1 หมื่นล้านบาท)

ปัจจุบันฐานะการเงิน SGC มี D/E ที่ 3.4 เท่า และโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อปัจจุบันขนาด 12,000 ล้านบาท (จำนำทะเบียน 83%, เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า 7%) และปีนี้มุ่งหวังการ Turnaround จากสินเชื่อมือถือ

” หาก SINGER เพิ่มทุนครบตามสัดส่วนการถือหุ้น เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้เงินราว 3,800 ล้านบาท ขณะที่ฐานะการเงินปัจจุบัน SINGER มี D/E 0.3  เท่า (หาก SINGER ต้องกู้มาเพิ่มทุนทั้งหมด คาด D/E เพิ่มเป็น 0.6 เท่า)”บล.กรุงศรีระบุ

ด้านราคาหุ้น SGC  ร่วงลงแรง -17.58% หรือ -0.32 บาทปิดที่ 1.50 บาท ลาก SINGER ทรุดลง -8.43% หรือ-0.75 บาท ปิดที่  8.15 บาท
JMART  ลดลง -7.63% หรือ -1 บาท ปิดที่ 12.10  บาท  และ JMT  ติดลบ 6.725 หรือ -0.90 บาทปิดที่ 12.50 บาท