หุ้น Climate Tech มาแล้ว “WAVE-OTO-DITTO” ติดปีก

HoonSmart.com >> หุ้น Climate Tech ติดลมบน  “WAVE-OTO-DITTO” ออกตัววิ่งแรง เข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิต ธุรกิจแห่งอนาคตที่ทั่วโลกกำลังผันตัวเอง ไปสู่ Net Zero

ราคาหุ้น WAVE, OTO และ  DITTO  ปรับตัวขึ้นร้อนแรง รับกระแสคาร์บอนเครดิต และ Climate Tech ปิดตลาด WAVE ซิลลิ่ง 0.20 บาท เพิ่มขึ้น 33.33% , OTO ปิด 23 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ 9.52% และ DITTO ปิด 28.50 บาท ขึ้นเล็กน้อย 0.75 บาท

นับถอยหลัง 1 ตุลาคม 2566 มาตรการปรับภาษีคาร์บอน ก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ โดย เหล็ก พลาสติก และอะลูมิเนียม จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับความเสี่ยงจากมาตรการดังกล่าว

แน่นอนว่า ผู้ประกอบการจะรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ ต้องรายงานปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิต

CBAM ถือเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติ ที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป

สำหรับสินค้าไทย 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ พลาสติก เหล็ก และอะลูมิเนียม มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งในปี 65 (เดือนม.ค.-ธ.ค.) พลาสติกมีมูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 676 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 2.4%,  เหล็กอยู่ที่ 201 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.7% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 111 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.4% ของมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป

นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act: CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้า CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าว ไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะต้องรายงานปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศตามมาตรการ CBAM รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการวางแผนปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ได้แก่

การจ่ายค่าปรับภาษีคาร์บอนหรือการซื้อใบรับรอง CBAM Certificate การพัฒนาระบบการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด พัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมสินค้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าสำเร็จรูป และการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ถือเป็นหนึ่งจุดเริ่มต้น ที่ทำให้หลายบริษัทกระโดดเข้าสู่ธุรกิจ คาร์บอนเครดิต และ Climate Tech ซึ่งถ้าใครสามารถทำตลาดได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ

เริ่มจาก WAVE ที่จัดตั้ง บริษัท Wave BCG คาดหวังจะเป็น S-curve ใหม่ ให้กับบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจ คาร์บอน เครดิต ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก บริษัทฯ จะเป็นผู้ให้บริการธุรกิจคาร์บอน เครดิต ครบวงจร ทั้งด้านการเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ซื้อ และผู้ขาย สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท สนับสนุนการขึ้นทะเบียน คาร์บอนเครดิต การตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท การจัดหาคาร์บอน เครดิต ให้องค์กรในไทย และเซาท์อีสเอเชีย (SEA) รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้าน Climate Tech

สำหรับจุดเด่นที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตของบริษัท ประกอบด้วย เป็นผู้ถือครอง RECs รายใหญ่เป็นที่ 1 ใน 3 อันดับแรกในประเทศไทย (ซื้อ ส่วนแบ่งตลาด RECs ในเวียดนาม 25 % ในปีที่ผ่านมา) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการสภาพภูมิอากาศ, เป็นที่ปรึกษาและจัดทำ Feasibility Study ในการปลูกและฟื้นฟูป่าไม้ (มากถึง 3 ล้านไร่ทั่ว SEA) รวมทั้งการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อได้คาร์บอนเครดิตและข้าวแบบ “low carbon rice” (เริ่มเฟสแรกประมาณ 2 พันไร่) และปลูกพืชเกษตรแบบยั่งยืนมากถึง 1,800 ไร่ ทั่วประเทศ

ขณะที่ OTO ได้จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวกับการ ซื้อ ขาย หรือโอนสิทธิ ในคาร์บอนเครดิต ภายใต้ชื่อ บริษัท  ซีซีเอส คาร์บอน เคลียร์โซลูชั่น (Carbon Clear Solution Company Limited) โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.98 % ของทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว

เพื่อมุ่งสู่ Climate Tech โดยผ่านการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์, องค์กร, งานอีเว้นท์ และการบริการ อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การขายคาร์บอนเครดิต หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต

เบื้องต้น OTO ได้แตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) เพื่อรองรับการแตกไลน์สู่ EV Bike และ คาร์บอนเครดิต ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ Climate Tech ที่กระแสโลกกำลังมา

ส่วน DITTO ชัดเจนกับโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เปิดให้เอกชนขออนุญาตดูแลรักษาป่าเป็นโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดย บ.สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัทย่อย DITTO” ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการ ได้รับจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าชายเลน จำนวน 11,448 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี เพื่อใช้ประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต

เห็นได้ชัดเจน ทั้ง OTO WAVE DITTO มีแนวทางที่ต่างกันในการมุ่งสู่ Climate Tech โดย OTO โดดลงมาเล่นการเป็นที่ปรึกษาให้บริการบริหารจัดการครบวงจร ในการลดคาร์บอนเครดิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นตัวแทนในการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต

ขณะที่ WAVE ให้น้ำหนักการเป็นที่ปรึกษาครบวงจรเช่นกัน ในการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ส่วน DITTO ไปในแนวของการปลูกป่า เพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

ถนนทุกสายเริ่มหันมามองคาร์บอนเครดิต และ Climate Tech แน่นอนว่า ใครบุกตลาดได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ เพราะเมกะเทรนด์กำลังมา!