ตลาด-ก.ล.ต.เพิ่มเชื่อมั่น เล็งแก้ปั่นหุ้นเร็ว จัดเกรดบจ.สั่งทำแผน 3 ปี -มีระบบเปิดตัวไอ้โม่ง

HoonSmart.com>>หุ้นไทยขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง กลัวการเมืองลาม ปีนี้ไม่ถึง 6 เดือนต่างชาติกระหน่ำทิ้งทะลุ 1 แสนล้าน ดัชนีดิ่งหลุด 1,300 “กิติพงศ์” ประธานบอร์ดตลท. เผยสัปดาห์ก่อนได้ประชุมร่วมกับก.ล.ต. เร่งจบคดีกระทำผิด เล็งออกพรก.ให้อำนาจก.ล.ต.สอบสวนเหมือนตำรวจ พบผิดฟ้อง-อายัดทรัพย์ได้  ตลาดมีแพลตฟอร์มรวมข้อมูลบจ.-ซื้อขายหุ้น ใครทิ้งใครทุบเห็นชัดแจ๋ว ด้านผู้จัดการตลท.คนที่ 14 เสนอไอเดียให้บจ.ทำแผนงาน 3 ปี เห็นทิศทางโตหรือดับ นักลงทุนเลือกได้

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ และก.ล.ต. ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เช่น การแก้ไขกฎระเบียบและการแก้ไขกฎหมาย ให้ก.ล.ต.มีอำนาจในการสอบสวนเหมือนตำรวจ โดยการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้สามารถฟ้องนักลงทุนที่มีการซื้อขายในลักษณะปั่นหุ้นได้เลย รวมถึงการอายัดเงินหรือทรัพย์สินได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์มีการทำแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) และข้อมูลการซื้อขายหุ้น พร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้พัฒนาข้อมูลต่อได้  เช่น ใครทุบหุ้น ก็สามารถประกาศข้อมูลได้ชัดเจนว่าใครขายหุ้น หรือใครชอร์ตหุ้น ทำให้ทราบข้อมูลของนักลงทุนที่ทำรายการได้ทันท้วงที

ส่วนการคัดเลือกนายอัสสเดช คงสิริ เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 ขอยืนยันว่า มีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือของกระบวนการคัดเลือก จากกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 10 คน ซึ่งนายอัสสเดชมีประสบการณ์การทำงานในตลาดทุนทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ สามารถนำความรู้มายกระดับตลาดทุนไทยได้

นอกจากนี้นายอัสสเดช ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องการตรวจสอบบัญชีของ บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ตามข่าวต่างๆที่ออกมา แม้ว่าจะทำงานเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาการเงินของ Deloitte Thailand ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับบริษัทที่ตรวจสอบบัญชี STARK คือ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี แต่นายอัสสเดช เข้ามาเริ่มงานกับ Deloitte Thailand ในปี 2565 หลังจาก STARK เปลี่ยนผู้สอบบัญชีในปี 2564 จึงมั่นใจได้ว่านายอัสสเดช ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ STARK แต่อย่างใด

สำหรับโจทย์แรกที่ฝากการบ้านให้กับ นายอัสสเดช ในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนที่ 14 คือ การฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญเพื่อให้ตลาดพลิกฟื้นกลับมา รวมถึงแผนงานในการดูแลนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีความสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย รวมถึงการสร้างจุดขายให้กับตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันกลับมาสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

“หนึ่งวิสัยทัศน์ของ นายอัสสเดช ที่นำเสนอ ซึ่งน่าสนใจ เช่น การนำเสนอให้บจ.จัดทำแผนการดำเนินงาน 3 ปี ส่งมาให้กับตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำให้มีข้อมูลในระยะกลางของ บจ.เผยแพร่ให้กับนักลงทุน  จากตอนนี้ข้อมูลที่ บจ.ส่งมาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลปัจจุบัน อาจจะไม่เพียงพอในการประเมินและใช้ประกอบการตัดสินลงทุน  ที่สำคัญไม่สามารถประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในอนาคตได้ โดยแนวทางการจัดทำแผน 3 ปีจะทำให้นักลงทุนสามารถประเมินมูลค่าของธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตได้ ซึ่งมีตัวอย่างในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ใช้อยู่ เป็นต้น

“บจ.ทำแผนการดำเนินงานและการลงทุนในรอบ 3 ปี เพื่อให้นักลงทุนเห็นการเติบโตของกำไร แทนที่จะนำกำไรไปจ่ายเงินปันผลเหมือนปัจจุบัน แผน 3 ปี ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีจุดขายว่าบจ.ไทยมีการเติบโตของกำไร และนักลงทุนสามารถนำเงินมาลงทุนในระยะยาวได้”

ด้านคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลดทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วจากการอนุญาตเป็นการทั่วไป เช่นการลดทุนจดทะเบียนส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ หากไม่กระทบโครงสร้างของผู้ถือหุ้น รวมถึงส่วนของผู้ถือหุ้นและไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป

” หลักเกณฑ์การลดทุนครั้งนี้เกิดขึ้นมา เนื่องจากทั้งตลาดและก.ล.ต.เห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีจำนวนโบรกเกอร์มากเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ควรปรับตัวด้วยการรวมกันจะดีกว่าต่างคนต่างทำธุรกิจ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงและซ้ำซ้อนกัน”แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนภาวะตลาดหุ้นวันที่ 17 มิ.ย.2567 เป็นไปตามคาด ดัชนีหุ้นร่วงลงแรง ระหว่างวันลงไปต่ำสุดที่ 1,288.58 จุด หรือร่วงลงไปมากกว่า 1% ก่อนฟื้นขึ้นมาปิดที่ 1,296.59 จุด -9.97 จุดหรือ -0.76% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 40,684.03 ล้านบาท  โดยนักลงทุนต่างชาติขายต่อ 2,706.28 ล้านบาท ปรับพอร์ตหนีก่อนวันที่ 18 มิ.ย. 2567 กลัววิกฤตการเมือง ซึ่งศาลฯ นัดถก 4 คดี  ได้แก่ การพิจารณายุบพรรคก้าวไกล การวินิจฉัยความเป็นนายกฯ ของ นายเศรษฐา ทวีสิน รวมถึงจับตาคำตัดสิน พ.ร.ป.เลือก สว.ว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่ และคดี ม.112 ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร

“ภาพรวมตลาดหุ้นปี 67 (ม.ค.-17 มิ.ย.) นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยมากถึง -100,287.48  ล้านบาท โดยนักลงทุนไทยเก็บมากที่สุด  98,295.18 ล้านบาท และสถาบันไทยซื้อสุทธิ 3,381.69 ล้านบาท ส่วนดัชนีหุ้นทรุดลง 119.26 จุด หรือ ติดลบ 8.42% ระหว่างวันลงไปแตะ 1,288.58 จุด  ต่ำสุดในรอบ 4 ปี “