HoonSmart.com>>กลุ่มเจมาร์ท มั่นใจไตรมาส 2/67 โตกว่าไตรมาส 1 ลั่นดีต่อเนื่องทุกไตรมาส JMT รับกำไรปีนี้ลดลง ตั้งเป้าซื้อหนี้เพิ่ม 2,000 ล้านบาท ผลตอบแทน 12% เดินหน้าฟ้อง 150,000 บัญชี หวังลด ECL ด้าน J เปิดโครงการใหม่ 28 มิ.ย. ส่วน SINGER และ SGC ใช้ธุรกิจใหม่ NPL ต่ำ Jaymart Mobile ไฮซีซั่นขายมือถือ รับเทรนด์ AI พ่วงสินเชื่อกระตุ้นกำลังซื้อ “สุกี้ตี๋น้อย”เดินหน้า IPO ปูพรมขยายสาขาครอบคลุมหัวเมืองในต่างจังหวัด ยอดขายโต เล็งเข้าตลาดหุ้นปี 69
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ JMART เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะออกมาดีกว่าไตรมาสแรก และไตรมาส 3 ก็จะดีกว่าไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 4 จะดีที่สุด ซึ่งบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ยังเป็นบริษัทที่สร้างผลกำไรให้ดีอยู่ ขณะที่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) และบริษัท เอสจี แคปปิตอล (SGC) เติบโตไปกับธุรกิจใหม่ (LOCKED PHONE) รวมไปถึงสุกี้ตี๋น้อย ก็เติบโตได้จากการขยายสาขาเพิ่มขึ้น
“ระยะเวลา 2 ปีเต็มที่เจอวิกฤต SINGER และ SGC ใช้เวลาในการแก้ไข โดยหนึ่งปีครึ่งสามารถเคลียร์ไปได้ 95% ปัจจุบันหลังจากใช้เวลา 9 เดือนในการศึกษาสามารถหา New Business (LOCKED PHONE) ให้ SINGER กับ SGC ได้ ตอนนี้มั่นใจ เชื่อสิ่งที่พยายามทำมาสามารถตอบโจทย์ได้…New Business จะสร้าง Turnaround ให้กับ SINGER และ SGC รวมถึงกลุ่มเจมาร์ททั้งกลุ่ม”
ที่ผ่านมาบริษัทเผชิญกับข่าวลือหลายเรื่อง เช่น กลุ่ม BTS จะขาย SINGER หลังขาย KEX ไปแล้วไม่ทราบข้อเท็จจริง เพราะ Rabbit ได้ทำสัญญาที่จะลงทุนเกือบ 200 ล้านหุ้น ระยะเวลา 3 ปี ที่ราคาเกือบ 20 บาท ขอยืนยันว่า Rabbit ขาย Singer ไม่ได้แม้แต่หุ้นเดียว
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผยว่า ปี 2567 คาดว่ากำไรจะน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยครึ่งปีแรกได้ชะลอการซื้อหนี้เข้ามาบริหาร เพราะมีหนี้ค้างอยู่จำนวนมาก แต่ครึ่งปีหลัง ตั้งเป้าเงินลงทุนไว้ 2,000 ล้านบาท ในกลุ่มหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน อาทิ กลุ่มบัตรเครดิต หนี้สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล จะต้องให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 12% ณ สิ้นไตรมาส 1 JMT มีพอร์ตบริหารหนี้อยู่ที่ 523,161 ล้านบาท (รวม JK AMC) มั่นใจ JMT ยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งได้
ภาพรวมไตรมาส 2/2567 ยังจัดเก็บกระแสเงินสดได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานะการณ์เศรษฐกิจบ้าง แต่ลดผลขาดทุนทางด้านเครดิต (Expected Credit Loss: ECL) ด้วยการตามหนี้อย่างใกล้ชิดกับลูกค้า และการเจรจากับลูกค้าให้ลึกมากยิ่งขึ้น คาดว่า ECL จะทยอยลดอย่างต่อเนื่อง และคาดจะเห็นผลยอดจัดเก็บ (Cash Collection) กลับเข้ามาภายหลังจากการติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ย้ำยังคงผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศ
ทั้งนี้ จากปัญหาการเรียกเก็บหนี้ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ 150,000 บัญชีที่จะดำเนินคดี เพียงพอต่อการลด ECL ได้ โดยเริ่มฟ้องร้องในไตรมาส 2 ทยอยฟ้องไปจนครบ 6 เดือน คาดว่าจะทำให้ลูกหนี้ทยอยมาจ่ายหนี้ได้มากขึ้น ยอดเก็บหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ ECL จะค่อย ๆ ลดลง ผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้น จึงคาดว่าไตรมาส 3-4 จะเริ่มลด ECL ได้ ส่วนปี 2568 จะกลับมาเติบโตได้เป็นปกติ
ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ JMT จึงมีแนวทางในการพัฒนาแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นใหม่ “Baan Baan” (บ้าน บ้าน) แพลตฟอร์มสุดล้ำที่รวมทรัพย์มากกว่า 2,000 รายการ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่กำลังมองหา ทรัพย์เด่นทำเลทอง ซึ่งได้เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้การขายออกไปสู่สาธารณะเป็นเรื่องง่ายขึ้น และมองโอกาสจากการทำเช่าซื้อของบริษัทเอง รวมทั้ง เพื่อแก้ปัญหาการชำระหนี้ของลูกค้าที่ลดลงและล่าช้าออกไป ผ่านแอปพลิเคชั่น Jaii-Dee (จ่ายดี) ให้ลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานในไตรมาส 2/ 2567 คาดว่าจะมียอดขายเติบโต 29% เทียบจากไตรมาส 1 และเติบโต 35% เทียบจากไตรมาส 2 ปี 2566 แนวโน้มครึ่งหลังปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 50% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก และเติบโต 75% เมื่อเทียบกับครึ่งหลังปี 2566 จากการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ 24 ล้านบาท และมีการปรับใช้ Business model
ปี 2567 บริษัทฯเร่งลดสินค้ามือสอง ซึ่งในครึ่งปีหลังบริษัทจะนำสินค้า Multi Brand ที่ให้มาร์จิ้นมากกว่า 8% เข้ามาจำหน่าย ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าของซัมซุง, LG สินค้าเหล่านี้ราคาถูกกว่าสินค้า Singer แต่เอาเข้ามาขายได้ในราคาเท่ากับราคา Singer ส่งผลให้มาร์จิ้นเพิ่มขึ้นด้วย, นำสินค้าที่สามารถล็อกได้ (Appliance Locking) มาขาย เพื่อลด NPL, นำสินค้า Commercial Appliance New Line Up เพื่อเพิ่มยอดขาย อย่างพวกเครื่องทำน้ำแข็ง, เครื่องทำบิงซู เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯให้ความสำคัญกับการเติบโตด้วยเทคโนโลยี โดยในเดือนก.ค.จะนำแอป JDID มาใช้ เป็น Digital App สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electric Appliances)
ด้าน “สุกี้ตี๋น้อย” ภายใต้ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป (JMART ถือหุ้นสัดส่วน 30%) คาดมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง กำไรปีนี้เติบโตจากปี 2566 มีกำไรอยู่ที่ 913 ล้านบาท จากการขยายสาขาทำได้ตามแผน ยอดขาย และกำไรส่งกลับมาให้เจมาร์ทอย่างน่าประทับใจ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยในเดือนมิ.ย.สุกี้ตี๋น้อยมีจำนวนสาขา 67 แห่ง ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และการขยายไปหัวเมืองต่างจังหวัดคาดทั้งปีมี 79 สาขา นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2569
ขณะที่ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ปักธงเดินหน้าสยายปีกคอมมูนิตี้มอลล์ต่อเนื่อง ผลักดันปี 67 กำไรทำนิวไฮใหม่ จากปัจจุบันมีศูนย์การค้าชุมชนแล้ว 7 สาขา และคาดเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาตามแผน ปักหมุดเปิดโครงการใหม่ JAS Green Village Prawet ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ในทำเลที่เป็นจุดศูนย์กลาง ใกล้ชุมชน โรงเรียน และออฟฟิศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘GREEN SPACE FOR ALL’ เติมเต็มพอร์ตรายได้ของบริษัทฯ และโปรเจกต์ถัดไป JAS Green Village Ramkhamhaeng ในรูปแบบมิกซ์ยูสออฟฟิศบิลดิ้ง คาดเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 วันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่องในทุกไตรมาส ด้านธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Senera Senior Wellness ปัจจุบันมี 2 โครงการ ที่ JAS Green Village คู้บอน และบางบัวทอง จะเป็น Key Driver สร้างฐานกำไรที่ยั่งยืนต่อไป
ด้านโปรเจกต์ใหม่ของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) และ บริษัท เอสจี แคปปิตอล(SGC) หลังประกาศเปิดตัว SG Finance+ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทิศทางไปได้สวย พร้อมเดินหน้ารุกตลาดสินเชื่อสมาร์ทโฟนทั่วประเทศ เฟสแรกจับมือสมาร์ทโฟน 3 แบรนด์ชั้นนำ ประกอบด้วย Xiaomi Oppo Vivo ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ตลาดมือถือในประเทศไทยรวมกันประมาณ 47% สะท้อนตลาดที่ใหญ่ โดยสมาร์ทโฟนที่ร่วมรายการราคาเริ่มต้นที่ 8,000 บาท จำนวนสัญญา 12 – 24 เดือน การขอสินเชื่อ และยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์ม ใช้เวลาอนุมัติเพียง 3 นาที โดยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีพันธมิตรร้านค้าทั่วประเทศราว 2,100 แห่ง ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 8,200 สัญญา มียอดจัดเก็บ Cash Collection สูงถึง 98% ของพอร์ตรวม ทำให้คุม NPLs ในระดับต่ำกว่า 1% ตามที่วางไว้ และกำลังเดินหน้าจับมือพันธมิตรแบรนด์ใหม่เข้ามาเติมพอร์ต และคาดในเดือนธ.ค.นี้จะมีพันธมิตรร้านค้าเพิ่มเป็น 5,000 แห่ง ปล่อยสินเชื่อได้แตะ 100,000 สัญญา/เดือน หรือตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อจากผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ภายใต้สัญญาทั้งหมด 300,000 สัญญา จากยอดปล่อยสินเชื่อรวมปี 67 คาดว่าจะทำได้ราว 5,000 – 6,000 ล้านบาท
ด้าน บริษัท เจ มาร์ท โมบาย ซึ่งเป็นธุรกิจแกนของเจมาร์ท มองโอกาสจากตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจัดจำหน่ายประมาณ 10-12 ล้านเครื่อง โดยแบรนด์ Samsung มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 27% iPhone 12.2% และแอนดรอยด์ ภายใต้แบรนด์ Xiaomi Oppo Vivo มีมาร์เก็ตแชร์รวมกันประมาณ 47% สะท้อนโอกาสปีนี้ Jaymart Mobile จะเติบโตด้วยบริการที่ครบวงจร มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเสริมทัพ (Financial Destination) จากแคมเปญ Locked Phone ทั้งสินเชื่อ Samsung Finance+ บริหารโดย KBJ และ SG Finance+ โดย SGC
อย่างไรก็ดี ภาพรวมแบรนด์ชั้นนำได้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ในหลากหลายโมเดล ด้วยเทคโนโลยี AI เข้ามากระตุ้นกำลังซื้อและการเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้เร็วขึ้น รวมทั้ง การแกรนด์โอเพนนิ่งของสินค้าใหม่แบรนด์ Apple เปิดตัว iPad Pro ชิพ M4, iPad Air และ Apple pencil pro จึงน่าจับตามองในครึ่งปีหลังจะเป็นไฮไลท์การเติบโตของตลาด iPhone และ Smartphone ในเมืองไทยให้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
สำหรับบริษัท เจ เวนเจอร์ส (J Ventures) ผู้พัฒนา ‘JFIN Chain’ บล็อกเชนเพื่อธุรกิจ และแกนนำในการทำ Transformation ในเครือเจมาร์ท กำลังพัฒนา Jaymart Gen2 ภายใต้โครงการ COE (Center of Excellence) อาทิ J POINT ที่ใช้กับสุกี้ตี๋น้อย รวมทั้ง J Wallet โดยบริษัท เจ อีลิท จำกัด กลไกแลกพอยท์กันผ่านการ Internal Synergy ที่ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี มีคนใช้พอยท์ประมาณ 450,000 คน มีพอยท์ในระบบประมาณ 100 ล้านพอยท์ และตั้งเป้าสร้างยอดขายที่เกิดขึ้นในกลุ่มเจมาร์ทราว 2,070 ล้านบาท และมี member ใช้พอยท์แตะ 1 ล้านคนในปีสิ้นนี้ ควบคู่การให้ความสำคัญกับการใช้ Data Driven ในการทำ CDP (Customer Data Platform) ทำการตลาด สร้าง Business Impact เข้ามาในเครือในอนาคคต และกำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม Insure Tech และ Comm Tech เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้กลุ่มบริษัทเจมาร์ทมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่แข็งแรงที่สุดบริษัทหนึ่งในประเทศไทย พร้อมรับโอกาสในอนาคต
“เรามองหาโอกาส เพื่อให้ธุรกิจกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ หลังเคลียร์ปัญหาการตั้งสำรองก้อนใหญ่ของ SINGER และ SGC ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 และไตรมาส 1/67 เราพบโอกาสจาก New Business Model ถ้าให้ผมมองไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้จะแข็งแกร่งขึ้นในทุกๆ ไตรมาส ด้วยปัจจัยบวก สามารถแก้ Pain Point จากธุรกิจ SINGER SGC ที่ตั้งสำรองในระดับสูง เราหาธุรกิจที่ให้ Yield สูง ใช้เทคโนโลยีที่สามารถสเกลได้ ด้วยคุณภาพ NPL ที่ดี ผมคิดว่าเราเจอ Business Model นี้แล้ว”นายอดิศักดิ์ กล่าว
โดย KBJ ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลจากประเทศเกาหลีใต้ในประเทศไทย ภายใต้บริษัทร่วมทุนของ KB Kookmin Card และ Jaymart Group มีการเติบโตอย่างน่าสนใจในการปล่อยสินเชื่อ SAMSUNG Finance+ ในแบรนด์ SAMSUNG ด้วยเทคโนโลยี Locked Phone เป็น Milestone แรกที่ทำให้ KBJ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการเปิดตัวโครงการ สนับสนุนภาพรวม NPL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนธุรกิจที่สเกลได้ และความเสี่ยงต่ำ จึงมองว่า SG Finance+ จะเป็นโอกาสของ SINGER และ SGC ที่จะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ ภายใต้พอร์ตที่มีคุณภาพมากขึ้น และมั่นใจภาพรวม JMART จะเติบโตในทุกไตรมาส คาดครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก เดินหน้าผลักดันบริษัทฯ ทำสถิติสูงสุดใหม่ตามแผนเดิม โดยมุ่งเน้น ธุรกิจค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี