คาดเฟดลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้ง ไทยเสียงแตก ‘ตรึง-ลง’ หนุนหุ้นแบงก์

HoonSmart.com>>เฟดมีมติคงดอกเบี้ยตามคาด เจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ น้อยกว่าที่คาดการณ์ต้นปีหั่นถึง 3 ครั้ง ส่วนไทย SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 เหลือ  2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า แก้เศรษฐกิจเสี่ยงสูง  บล.ทิสโก้คาดคงที่ตลอดปีนี้  หอการค้าเผยดัชนีเชื่อมั่นเดือนพ.ค. ลดทุกภาค กังวลการเมืองไม่นิ่งเศรษฐกิจโตต่ำ ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น หุ้นตก 

วันที่ 12 มิ.ย.2567 ที่ประชุมธนาคารสหรัฐ(เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.5% ตามคาด  นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงอย่างมากแต่ยังคงสูงเกินไป และความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากความคืบหน้าช้ากว่าที่คาดในการลดราคาลงเหลือ 2% ตามเป้าหมายของเฟด แต่คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.8% ในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดอกเบี้ย(Dot Plot)ดอกเบี้ยล่าสุดของเฟด แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งน้อยกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ไว้สามครั้งในต้นปี 2567

ด้านอัตราดอกเบี้ยของไทย SCB EIC คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4/2567 ซึ่งเป็นจังหวะที่ภาวะการเงินตึงตัวจะเริ่มส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเริ่มปรับสูงขึ้น สำหรับในระยะสั้นพัฒนาการเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงต้นปียังเป็นไปตามที่ กนง. ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาสูงกว่ากรอบล่างของเป้าหมายในเดือนพ.ค.ชั่วคราวโดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานราคาพลังงานที่รัฐอุดหนุนไว้ในปีก่อน อีกทั้ง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MRR เป็นพิเศษเป็นเวลา 6 เดือนสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจเปราะบางได้บางส่วนแล้ว กนง. จึงจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ภาคการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษ ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะไม่มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวลเช่นในอดีต  เพราะมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวเปราะบาง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง และคุณภาพสินเชื่อภาคครัวเรือนด้อยลง  จึงทำให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากขึ้น จะยิ่งทำให้การเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ยิ่งเพิ่มความเปราะบางของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภาคเศรษฐกิจบางส่วนยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง  การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะยังฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากยังมีแรงกดดันจากสินค้านำเข้าจากจีน และอุปสงค์ในประเทศต่อสินค้าคงทนที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

” SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า เป็นจังหวะเวลาที่ภาวะการเงินตึงตัวจะกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะยิ่งเปราะบางขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเริ่มปรับสูงขึ้น”

ทางด้านบล.ทิสโก้ คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยาวตลอดทั้งปีนี้ที่ 2.5% จากโมเมนตัมของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่กำลังเร่งตัวขึ้น และมองว่ามติคงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็น 6-1 เสียง (เดิม 5-2) เปรียบเสมือนการยืนยันว่า กนง. ไม่เห็นความจำเป็นของการปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้

แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐและไทยปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ สนับสนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นดีกว่าตลาดโดยรวม นำโดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซื้อขายที่ 129.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาทหรือ+2.78% สวนทางตลาดติดลบ 4 จุด ณ เวลาประมาณ 15.30 น.

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนพ.ค. 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.1 ลดลงจากระดับ 55.3 ในเดือนเม.ย. มีปัจจัยลบ 9 เรื่อง เช่น ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่มีข่าวต่างๆออกมา  ทำให้คนส่วนใหญ่กังวลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัว 1.5% และยังมีการปรับลดประมาณการปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้าว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ระดับ 32.94 บาท/ลิตร สิ้นเดือน เม.ย. 67  ดัชนีหุ้นเดือน พ.ค. ลดลง 22.29 จุดปิดที่ระดับ 1,345.66 จุด

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 พ.ย. 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว  สร้างรายได้เกษตรกรสูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 67 ขยายตัว 6.81% มูลค่าอยู่ที่ 23,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.35% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,641 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ