GPSC คว้ากำไร 1,118 ลบ. พุ่งฉิว 257% SPP-พลังงานสะอาดหนุน

HoonSmart.com>>”โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC)”โกยกำไรไตรมาส 1/66  ก้าวกระโดด  257% YoY และพุ่งขึ้น 356% QoQ จากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ดีขึ้น ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ-ถ่านหินลดลง  รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนโครงการพลังงานสะอาดในประเทศอินเดีย ประกาศผลสำเร็จคว้าโครงการพลังงานโซลาร์ทั้งในและต่างประเทศ เดินหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% ในปี 73

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 27,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีกำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 804 ล้านบาท หรือ 257% จากกำไร 805 ล้านบาท YoY   และเพิ่มขึ้น 1,554 ล้านบาท หรือ  356% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 (QoQ )

กำไรที่เติบโตก้าวกระโดดมาจากปัจจัยบวกจากการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ของงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 ที่สะท้อนต้นทุนพลังงานมากขึ้น ส่งผลให้ margin ขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้น แม้ว่าปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำในกลุ่มอุตสาหกรรมจะลดลง จากการหยุดซ่อมบำรุงของลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท  (Avaada Energy Private Limited หรือ AEPL) เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในด้านการขายและบริหารลดลง แม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีลดลงจากปริมาณน้ำลดลงก็ตาม

บริษัทฯ ยังคงติดตามราคาพลังงาน ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติและราคาถ่านหินอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในขบวนการผลิต หรือ Optimization และมีการจัดลำดับการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำเป็นลำดับแรก เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในการ Synergy เพื่อบริหารจัดการด้านการผลิต ลดต้นทุน และใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน รวมถึงการดำเนินการด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวอยู่ในระดับ 3.6% จากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน และยังมีปัจจัยสนับสนุนไปถึงการบริโภคของภาคเอกชนที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกไตรมาสแรก เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด