บลจ.อีสท์สปริงเสิร์ฟกองพันธบัตรรัฐ 6 เดือน ผลตอบแทน 2.05% ต่อปี

HoonSmart.com>> บลจ.อีสท์สปริง เสิร์ฟกองพันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น อายุ 6 เดือนกองใหม่ เปิดขายครั้งแรกครั้งเดียว 10-17 มิ.ย.นี้ โอกาสรับผลตอบแทนประมาณ 2.05% ต่อปี


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเสนอขายกองทุนเปิดอีสท์สปริง พันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น 6M19 (ES-GOVCP6M19) อายุประมาณ 6 เดือน เงินทุนโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนประเภทเทอมฟันด์ที่ผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุน โดยเสนอขายครั้งแรกครั้งเดียวระหว่างวันที่ 10-17 มิ.ย.2567 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

กองทุน ES-GOVCP6M19 มีนโยบายนำเงินไปลงทุนใน ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน เพียงครั้งเดียวและถือครองทรัพย์สินที่ลงทุนจนครบอายุโครงการ (Buy and Hold) ในสัดส่วนประมาณ 100% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยคาดหวังจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.26% ต่อปีของ NAV ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.21% ต่อปีของ NAV แล้ว ผู้ลงทุนจะได้รับประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 2.05% ต่อปีของ NAV (แหล่งที่มาของข้อมูล อัตราผลตอบแทนที่เสนอขายโดยผู้ออกตราสาร ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2567)

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดอายุกองทุน บลจ.อีสท์สปริง จะดำเนินการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ และทำการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งจำนวนของผู้ถือหน่วยทุกราย ไปยังกองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ (จะเปลี่ยนชื่อเป็นกองทุนเปิดอีสท์สปริงธนรัฐ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป) หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บลจ.อีสท์สปริง เปิดให้บริการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ในวันทำการก่อนวันสิ้นสุดอายุโครงการ

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก กองทุนอาจไม่ได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ หากผู้ออกตราสารที่กองทุนลงทุนไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนได้ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน และกองทุนมีความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร เป็นต้น