ความจริงความคิด : สร้างพระขาย รายได้ถวายวัด เสียภาษีอย่างไร

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

วันก่อนมีเพื่อนใจบุญอยากจะทำบุญสร้างถาวรวัตถุให้วัด แต่กำลังทรัพย์ของตนเองลำพังไม่เพียงพอ อาศัยว่ามีฝีมือด้านการช่าง จึงมีความคิดอยากจะสร้างพระขาย รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายถวายวัดหมด

เมื่อทราบกุศลเจตนาของเพื่อน ก็อนุโมทนาบุญด้วย แต่ก็รู้สึกสงสัยว่า “สร้างพระขาย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายถวายวัดหมด ตัวเองไม่มีรายได้อะไรเลย จะต้องเสียภาษีหรือไม่?”
ต้องขอขอบคุณกูรูด้านภาษีในกลุ่ม line “จอมโว” ที่ช่วยไขคำตอบให้ดังนี้ครับ

“กรณีบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สร้างพระขายหารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายถวายวัดทั้งหมด ให้ถือเป็นเงินได้มาตรา 40(8) โดยให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร สำหรับเงินได้ที่ถวายวัดให้นำมาหักเป็นรายจ่ายการกุศลสาธารณะตามมาตรา 47(7)(ข) หรือตามมาตรา 65ตรี(3) แล้วแต่กรณี
กรณีมีเงินได้จากการขายพระเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ครับ ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงควรไปจดแจ้งเป็นองค์การกุศลสาธารณะที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรตามประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อการยกเว้นเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด”

เงินได้มาตรา 40(8)

เงินได้มาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในเงินได้มาตรา 40 (1) – (7) แล้ว ซึ่งสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40% และ 60%

เนื่องจากเงินได้ประเภทที่ 8 เป็นเงินได้ที่มีหลากหลายประเภทมาก ซึ่งแต่ละประเภทก็มีต้นทุนธุรกิจแตกต่างกัน จึงไม่ใช่ว่าผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 8 จะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ทุกราย ดังนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่าเงินได้อยู่ในประเภทที่สามารถใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้หรือไม่ ซึ่งมีกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 11 พ.ศ.2502 หากไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาก็ต้องหักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น

ส่วนเงินได้ที่ถวายวัดให้นำมาหักเป็นรายจ่ายการกุศลสาธารณะตามมาตรา 47(7)(ข) หรือตามมาตรา 65ตรี(3) หมายความว่าอย่างไร

มาตรา 47(7) เป็นเรื่องของการหักค่าลดหย่อน โดยให้หักลดหย่อนได้อีกสำหรับเงินบริจาคดังต่อไปนี้ โดยให้หักได้เท่าจำนวนที่บริจาคแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือนั้น

(ก) เงินที่บริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ
(ข) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 65ตรี(3) เป็นเรื่องรายจ่ายต้องห้าม โดยกำหนดว่ารายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เป็นรายจ่ายต้องห้าม เว้นแต่ รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

“รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ” และ “รายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์” ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรหมายความว่าอย่างไร

“รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ” หมายถึง รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด องค์การบริหารราชการส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โรงพยาบาลของรัฐบาล หรือโรงพยาบาลขององค์การของรัฐบาล สภากาชาดไทย วัดวาอาราม มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด ให้เป็นองค์การสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร องค์การสาธารณกุศลอื่นๆ เช่น กิจการแพทย์หลวง องค์การยูนิเซฟ เป็นต้น

“รายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์” ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการ

(1) การส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง

(2) การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ

(3) การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ

(4) การส่งเสริม คุ้มครอง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

(5) การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษและของเสียอันตราย

(6)กองทุนสิ่งแวดล้อม

(7) การบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ

(8) การก่อสร้างถนนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลผู้รับโอนได้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในงานดังกล่าว

(9) การบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกันและ

(10) การบริจาคทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการให้แก่ส่วนราชการ เพื่อบริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชน

ทั้งนี้ รายจ่ายตาม (1) ถึง (10) ต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายให้แก่กิจการตามโครงการพระราชดำริ หรือของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือองค์การกุศลสาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

สรุปในกรณี “สร้างพระขาย รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ถวายวัด” คนสร้างได้บุญ แต่ต้องเสียภาษี

หากคนสร้างเป็นบุคคลธรรมดา รายได้จากการสร้างพระขายถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปในการสร้างพระหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือเลือกเหมาจ่าย 60% ส่วนเงินถวายวัด ถือเป็นรายจ่ายไม่ได้ แต่เอามาหักลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนที่บริจาคแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือจากการหักลดหย่อนอื่นๆ

หากคนสร้างเป็นนิติบุคคล อย่างเช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ รายได้จากการสร้างพระขายถือเป็นเงินได้ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปในการสร้างพระหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง เลือกเหมาจ่าย 60% ไม่ได้ ส่วนเงินถวายวัด ถือเป็นรายจ่ายได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยครับ

*หมายเหตุ: บุคคลธรรมดาขายวัตถุมงคลและพระเครื่อง แต่ของที่ขายได้มาจากมรดก หรือ ได้มาโดยไม่ได้มุ่งค้าหรือหากำไร (ซื้อมาใช้เอง แต่ต่อมาขายออก) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร สบายใจได้ครับ