เงินเฟ้อพ.ค.บวก1.54% สูงสุด13 เดือน กสิกรฯคงเป้าปีนี้โต 0.8%-กนง.ตรึงดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพ.ค.โตต่อเนื่องเดือนที่สอง จากค่าไฟ-ราคาน้ำมัน-ผักผลไม้สด-ไข่ไก่สูงขึ้น คาดมิ.ย.เพิ่มอัตราชะลอตัว ช่วงที่เหลือของปีกลับสู่กรอบเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% และคงประมาณการเฉลี่ยปี 67 ที่ 0.8% ส่วนการประชุมกนง.12 มิ.ย.นี้คาดยังคงมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% และทั้งปีไม่เปลี่ยนแปลง รอสหรัฐปรับลดลงก่อน ด้านธนาคารกรุงไทยคาดเงินเฟ้อขยับขึ้น ตามราคาอาหารสดและราคาพลังงาน 

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. 2567 บวก 1.54% YoY สูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นผลมาจากค่าไฟ, ราคาน้ำมันในประเทศราคาผักผลไม้สด และไข่ไก่ที่ปรับสูงขึ้น รวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย -0.13% YoY และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย อยู่ที่ 0.42% YoY

แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือน พ.ค. เนื่องจากผลจากฐานต่ำของค่าไฟคงลดลง ประกอบกับมีการตรึงค่าไฟต่อเนื่องที่ 4.18 บาท/ หน่วยในเดือนพ.ค.-ส.ค. นอกจากนี้ ราคาผักผลไม้มีแนวโน้มปรับลดลงหลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัดและเข้าสู่ฤดูฝน

ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี กลับสู่กรอบเป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3% โดยยังคงประมาณการเฉลี่ยปี 2567 ที่ 0.8% ตามปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า ประกอบกับภาครัฐมีการทยอยลอยตัวราคาพลังงานในประเทศ ส่งผลให้แรงกดดันให้กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายคงจะมีน้อยลง

ดังนั้นการประชุม กนง. วันที่ 12 มิ.ย. 2567 ยังคงมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง  และมีแนวโน้มส่งสัญญาณไม่แตกต่างจากผลการประชุมรอบที่แล้ว คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy Space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ประกอบกับนโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง ขณะที่ กนง. มีแนวโน้มให้น้ำหนักต่อเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงความผันผวนสูงของค่าเงินบาท จากตลาดที่มองว่าเฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้ แม้ว่าผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ล่าสุดส่วนใหญ่มองมีโอกาสที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ มองว่า กนง. คงจะรอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3% ภายในสิ้นปีนี้ ประกอบกับแรงกดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าจากแนวโน้มการคงดอกเบี้ยสูงยาวนานกว่าคาดของเฟด

ทางด้าน Krungthai COMPASS ประเมินอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มขยับขึ้น ตามทิศทางราคาอาหารสด  และราคาพลังงานที่จะขยับตามการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูง สะท้อนถึงต้นทุนราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงขึ้น (cost-push inflation) คาดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 0.8%

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อหมวดพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.42% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2560 – 2562) ที่ 0.6% บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้