ความจริง ความคิด : รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองรักษา รุ่นสามทำลาย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ใครฆ่าประเสริฐ? คงไม่ใช่คำถามที่คาใจกันอีกแล้ว เพราะตอนนี้ทุกคนรู้กันหมดขนาดไม่ได้ตามดูยังรู้จากข่าวผ่านสื่อต่างๆอย่างกับนายประเสริฐเป็นคนจริงๆไม่ใช่แค่ละคร แต่อุทาหรณ์กรณีคุณประเสริฐก็มีหลายเรื่องโดยเฉพาะการวางแผนมรดกหรือการวางแผนการสืบทอดธุรกิจ

หากพูดถึงการสืบทอดธุรกิจ คำพูดหนึ่งที่หลายคนคงเคยได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองรักษา รุ่นสามทำลาย” แต่จริงๆ แล้ว เป็นอย่างนั้นหรือไม่

และเพราะธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของบรรดาธุรกิจโลกระดับพันล้าน และยังมีธุรกิจและรายได้รวมกันคิดเป็น 70-90% ของจีดีพีโลกอีกด้วย ถ้ามองเฉพาะในประเทศไทย มูลค่าธุรกิจครอบครัวไทยสูงถึงเกือบ 30 ล้านล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นธุรกิจครอบครัว หรือบริหารกิจการโดยบุคคลในครอบครัว มากถึง 50.4% จึงน่าสนใจมากว่าจริงๆแล้วเป็นปัญหาอย่างที่กล่าวกันจริงหรือไม่ แล้วถ้าเป็นจริงอะไรคือสาเหตุ?

เมื่อปี 2014 บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึงผลการศึกษา Bridging the gap: Handing over the family business to the next generation ที่ทำร่วมกับบริษัทวิจัย Kudos Research และ Jigsaw Research ว่า PwC ได้ทำการสำรวจทายาทธุรกิจครอบครัวที่คาดว่าจะขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารกิจการต่อจากรุ่นพ่อ-แม่ของบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจำนวน 207 รายใน 21 ประเทศทั่วโลก พบว่า ความเสี่ยงของการสืบทอดกิจการให้ประสบความสำเร็จ กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ หลังผลสำรวจพบว่ามีธุรกิจเจ้าสัวเพียง 12% เท่านั้นที่สามารถยืนหยัดสืบทอดกิจการต่อเนื่องไปได้จนถึงรุ่นที่ 3 และเพียง 1% ที่ดำเนินต่อไปได้จนถึงรุ่นที่ 5

ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว (Family Politics) ยังคงเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของทายาทรุ่นใหม่ โดย 36% ของทายาทธุรกิจครอบครัวกังวลว่าจะต้องเสียเวลาไปกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว (ปี 2016 ความกังวลเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเป็น 52%)

จากผลการสำรวจพบว่า 3 ช่องว่างสำคัญที่เป็นภัยคุกคามความสำเร็จในการส่งมอบกิจการจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ได้แก่

# ช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) โดยผู้บริหารรุ่นปัจจุบันยังไม่มั่นใจว่าทายาทของพวกเขาจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะขึ้นมาบริหารกิจการครอบครัวแทน ผลสำรวจพบว่า

ในด้านเจ้าของกิจการรุ่นพ่อ-แม่
– ผู้ถูกสำรวจมากกว่าครึ่งที่บอกว่าตนไม่แน่ใจว่าลูกหลานจะมีทักษะหรือความมุ่งมั่นมากพอที่จะขึ้นมาบริหารกิจการให้ประสบความสำเร็จ
– 25% ต้องการส่งผ่านความเป็นเจ้าของให้เท่านั้น แต่ไม่ใช่การบริหาร นี่ยังเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงเห็นหลายๆ องค์กรจ้างบุคลากรหรือคนนอก เข้ามานั่งบริหารกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ในด้านทายาท
– ผู้ถูกสำรวจเพียง 35% ที่มั่นใจว่าพ่อแม่จะยกตำแหน่งให้ตนเป็นผู้บริหารอย่างแน่นอน
– เกือบ 30% เชื่อว่ามีความเป็นไปได้เท่านั้น
– 73% เชื่อแค่ว่าตนจะได้ขึ้นมารับตำแหน่งบริหารในวันข้างหน้า แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
– 64% เชื่อว่า พ่อ-แม่คงจะไม่ยอมวางมือจากกิจการที่พวกเขาบุกเบิกและสร้างมากับมือง่ายๆ

# ช่องว่างที่เกิดจากการสร้างความน่าเชื่อถือ (Credibility gap) โดยทายาทธุรกิจครอบครัวมองว่า พวกเขาต้องทำงานหนักมากกว่าคนอื่นๆในองค์กรเพื่อพิสูจน์ตนเอง

๐ 88% กล่าวว่า พวกเขาต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ว่า ตนมีความพร้อม และมีคุณสมบัติที่แท้จริงในการสืบทอดกิจการ

๐ 59% ยังระบุว่าการได้รับการเคารพนับถือจากเพื่อนร่วมงานก็ถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบากที่สุดอีกประการหนึ่ง

๐ ความท้าทายที่พบ
– 44% ระบุว่า คือ การเข้าใจธุรกิจที่รับช่วงอย่างถ่องแท้
– 18% ระบุว่า คือ การรับผิดชอบงานที่เขาไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้สำเร็จ
– 9% ระบุว่า คือ การที่เขาได้รับมอบหมายงานเร็วเกินไป

# ช่องว่างในการสื่อสาร (Communication gap) ซึ่งธุรกิจครอบครัวต้องแยกแยะความสัมพันธ์ส่วนตัวภายในครอบครัวออกจากเรื่องงาน และต้องมีการสื่อสารกันอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะความไม่ชัดเจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตได้

ใน 3 ช่องว่าง PwC มองว่าปัญหาเรื่องของการสื่อสารระหว่างคนในครอบครัว หรือ Communication Gap เป็นปัจจัยภายในที่น่ากังวลที่ธุรกิจครอบครัวต้องเร่งแก้ไขมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือพูดจาอย่างตรงไปตรงมา เพราะมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้อาวุโส แต่ยิ่งมีการสื่อสารกันน้อย ยิ่งทำให้ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกครอบครัว เกิดความขัดแย้งสั่งสมที่ไม่จำเป็น