CFARM หุ้นเติบโตและมั่นคง เคาะระฆังเทรด mai 6 มิ.ย.นี้

HoonSmart.com>>บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) หรือ CFARM เป็นผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่มีคุณภาพ ด้วยมาตรฐานสากล ไม่หยุดการขยายการลงทุน เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเติบโตสูง และจะไปได้อีกไกลมาก ภายหลังจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) หุ้นพร้อมแล้วที่จะเข้าซื้อขายในวันแรก 6 มิ.ย. 2567 เพื่อพานักลงทุนเติบโตไปด้วยกัน….

จุดเริ่มต้นธุรกิจ

“ชูรัตน์ จึงธนสมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) หรือ CFARM เล่าให้ฟังว่า ครอบครัว”จึงธนสมบูรณ์” เริ่มต้นทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อให้กับคู่สัญญาชั้นนำระดับประเทศ ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาที่มีการประกันราคา เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดจากการเห็นป้า ( พี่สาวของแม่) เลี้ยงไก่ที่จ.สุรินทร์ ให้กับบริษัทเบทาโกรแล้วมีฐานะดีขึ้นมาก พ่อสนใจ เห็นการเติบโต และมีความเสี่ยงต่ำ เพราะคู่สัญญาลงทุนเรื่องลูกไก่ อาหารและเวชภัณฑ์ให้บริษัทเลี้ยงจนมีน้ำหนักเป็นไปตามที่กำหนด โดยเริ่มต้นเลี้ยงไก่ครั้งแรกจำนวน 9,000 ตัว

ปัจจุบันมาไกลมาก บริษัทฯมีทั้งหมด 8 ฟาร์ม ประกอบด้วย 121 โรงเรือน ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567 มีกำลังในการเลี้ยงประมาณ 3.18 ล้านตัว/รอบการเลี้ยง รวมประมาณ 15.88 ล้านตัว/ปี โรงเรือนตั้งอยู่ในจ.บุรีรัมย์ จุดยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ของประเทศ  ใกล้โรงอาหารสัตว์และโรงเชือด รวมทั้งเป็นเส้นทางลัดของอีสานเหนืออีสานใต้ บริษัทยังมีพื้นที่ว่างเหลืออีกมาก พร้อมรองรับการขยายการลงทุนตามแผนการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 149 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.35 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 191.62 ล้านบาท

โอกาสเติบโตอีกมาก

ทางครอบครัวจึงธนสมบูรณ์ เล็งเห็นโอกาสธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อ จากการเติบโตของประชากร ส่งผลให้มีความต้องการบริโภคอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะ”เนื้อไก่”ที่จำหน่ายได้ทั่วโลก เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงและราคาเข้าถึงได้ง่ายที่สุดในกลุ่มสัตว์บก ทำให้อัตราการบริโภคเฉลี่ยสูงที่สุด 14.8 กิโลกรัม/คน/ปี

ปัจจุบันบริษัทมีคู่สัญญาชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทเบทาโกร กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์(ซีพีเอฟ) บริษัทซันฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทพนัสโพลทรี่ กรุ๊ป บริษัทสหฟาร์ม และกลุ่มแหลมทองสหการ  โดยอุตสาหกรรมการทำฟาร์ฟาร์มในไทยมีจำนวน 17 บริษัท

จากข้อมูลของสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ในปี 2566 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับที่ 4 ของโลก จำนวน 1,947.07 ล้านตัว โดยบริษัทสามารถเลี้ยงไก่เนื้อ จำนวน 13.79 ล้านตัว คิดเป็นสัดส่วนเพียง  0.71%  โดยกรมปศุสัตว์ ประกาศนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัท

ความสำเร็จของ CFARM ที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย ที่สำคัญมาจากการทุ่มเททำงานของทุกคน บริษัทมีกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี และมีความสัมพันธ์อันดีกับคู่สัญญาทุกราย ใส่ใจในรายละเอียดของทุกขั้นตอน โดยส่วนตัวก่อนที่จะมาทำงานที่นี่ หลังจบปริญญาตรี คณะบริหารการตลาด จาก ABAC ได้ทำงานที่มิตซูบิชิอยู่ 5-6 ปี ได้นำความรู้และประสบการณ์จากบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น มาวางระบบภายใน ทำให้บริษัทมีกำไรตลอดมา ยกเว้นปี 2564 เพราะได้รับผลกระทบข้างเคียง หลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด มีการปิดประเทศ ไม่สามารถนำเข้าอาหารจากประเทศบราซิล ไม่มีโรงเชือด บริษัทต้องเลี้ยงต่อไปจนอ้วนเกินไปและรอดน้อย หลังจากนั้นก็มีกำไรทุกปี ซึ่งกำไรที่ทำมาได้ทั้งหมด บริษัทไม่เคยนำออกไปใช้จ่ายเงินปันผลเลย กลับนำมาเพิ่มทุนและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ไร้โรคระบาด เข้มบริหารเสี่ยง 8 ด้าน 

การดำเนินธุรกิจ บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของความเสี่ยง จึงกำหนดการบริหารจัดการภายใต้ความเสี่ยง 8 ด้าน มีการจัดทำแผนรองรับในแต่ละด้าน เช่น ความเสี่ยงด้านโรคระบาดในคนและสัตว์ ซึ่งบริษัททำได้ดี ไม่เคยมีโรคระบาดเกิดขึ้นเลย แม้เกิดโรคไข้หวัดนกในช่วงปี 2547-2549 ซึ่งมีความรุนแรงและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ติดต่อในสัตว์ปีกยังสามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ หากตรวจพบไก่ที่ติดเชื้อจะต้องทำลายไก่ในฟาร์มทั้งหมด โดยในปี 2547 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยได้รับความเสียหายมากที่สุด มีไก่ถูกทำลายทั้งหมดคิดเป็น 57.90% ของปริมาณไก่ในประเทศ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรค เนื่องจากต้องทำลายสัตว์จำนวนมาก

ปัจจัยที่ทำให้บริษัทปลอดโรค มาจากผลของการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย และบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในความเหมาะสมของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เลี้ยงไก่ในฟาร์มด้วยระบบปิดปรับอากาศ (Evaporative Cooling System: EVAP) มีระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น พร้อมระบบการให้อาหารและน้ำอัตโนมัติให้แก่ไก่ทุกตัวอย่างทั่วถึงสามารถป้องกันเชื้อโรคจากภายในออกสู่นอกโรงเรือน ฟาร์มส่วนใหญ่ระยะห่างฟาร์มมากกว่า 10 กิโลเมตร ยกเว้นเพียง 2 ฟาร์มในทั้งหมด 8 ฟาร์ม บริษัทยังมีการปลูกต้นไม้เป็นแนวเพื่อป้องกันลมและฝุ่นและป้องกันจากภายนอกเข้าสู่ภายในโรงเรือน และการบริหารจัดการระบบสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมพนักงานเข้าออกโรงเรือน รวมถึงรถยนต์ภายนอกที่จะเข้าฟาร์มจะต้องผ่านการจุ่มล้อและพ่นฆ่าเชื้อ เป็นต้น

ประสิทธิภาพดีขึ้น

ส่วนเรื่องการเติบโต บริษัทวาง 11 กลยุทธ์ หนึ่งในนั้นคือการปรับปรุงประสิทธิภาพในการเลี้ยงไก่เนื้อทุกสายการผลิตอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนถึงผลงานที่ดีขึ้น 3 ด้าน คือ 1.อัตราการเลี้ยงรอดในปี 2564 -ไตรมาสที่ 1/2567 อยู่ที่  94.74% 92.73% 97.58% 92.76% 97.15% ตามลำดับ2.อัตราแลกเนื้อ (FCR) อยู่ที่  1.91 เท่า  1.70 เท่า 1.68 เท่า 1.61 เท่า  1.69 เท่า และ 3.คุณภาพดีขึ้น ทำให้เบทาโกรให้พรีเมียม และคู่ค้าบางรายกำลังพิจารณาให้พรีเมียมด้วย เช่น อุ้งตีน ตลาดมีความต้องการสูง

“เรารับเลี้ยงไก่เนื้อ โดยทั่วไปน้ำหนักประมาณ 1.80-3.00 กก./ตัว และอายุประมาณ 35-45 วัน อัตราการเลี้ยงรอดที่ดีขึ้น หากเราทำได้ดียิ่งขึ้น เช่น  1% จะช่วยเพิ่มรายได้ประมาณ 10 ล้านบาท  ทั้งนี้ยังไม่รวมอัตราแลกเนื้อที่ดีขึ้น คือกินอาหารน้อยลงสร้างเนื้อได้มากขึ้น การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ปัจจุบันมีการติดตั้ง Cooling Pad รอบโรงเรือนช่วยลดอุณหภูมิภายในฟาร์ม นำเครื่องอินเวอร์เตอร์มาช่วยเปิด-ปิดพัดลม ลดการกระชากของไฟฟ้า การนำแผงโซลาเซลล์มาติดตั้งในฟาร์มเพื่อใช้ส่องแสงสว่าง และหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทดแทน ทำให้กำไรดีขึ้น ปัจจุบันอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย  10-12% อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 25%”

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากผลพลอยได้ เริ่มในปี 2565 เป็นปีแรกที่ขายและขนส่งพลอยได้จากวัสดุรองพื้นผสมขี้ไก่ ทำปุ๋ยอินทรีย์

บริษัทมองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจตั้งแต่ปลายน้ำจนถึงต้นน้ำ เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้และกำไร

7  หุ้นเด่นหุ้น CFARM

บริษัทพร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาด mai วันที่ 6 มิ.ย.นี้  ในหมวดธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หลังประสบความสำเร้จในการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 149 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.35 บาท คิดเป็น P/E ประมาณ 26.18 เท่า ต่ำกว่าธุรกิจที่ใกล้เคียงกันที่ระดับ 28 เท่า โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “จึงธนสมบูรณ์” ล็อกหุ้นทั้งหมด 431 ล้านหุ้น และนักลงทุนที่จองซื้อหุ้น IPO บางส่วน ยินดีที่จะล็อกหุ้นไม่นำมาขายในวันแรกของการเข้าตลาด

ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 580 ล้านบาท พาร์หุ้นละ 1 บาท บริษัทฯมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ มีกำไรสะสมประมาณ 19 ล้านบาท

จุดเด่นของหุ้น CFARM มีอย่างน้อย 7 เรื่อง คือ 1. ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี(BOI) 2.ความผันผวนต่อรายได้ต่ำ เพราะต้นทุนส่วนใหญ่คงที่ 3. ประสิทธิภาพในการเลี้ยงและควบคุมต้นทุนที่ดี จากอัตราการเลี้ยงรอดและอัตราแลกเนื้อดีขึ้น 4. ทำเลที่ตั้งโรงเรือนเชิงกลยุทธ์ที่จ.บุรีรัมย์ 5. ทีมงานแข็งแกร่ง 6.จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ 7.สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ) ต่ำ ลดลงจากที่ระดับ 1.1 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  เหลือประมาณ 0.6 เท่าสิ้นปี 2566

บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้จะเติบโตประมาณ 9-12% แนวโน้มจะทำได้ดีกว่านี้ ภายหลังจากนำเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO มาลงทุนตามแผน คือ 1.ภายในปี 2569 บริษัทจะเพิ่มจำนวนโรงเรือน ปรับปรุงระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีแผนลงทุนระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน 2.เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในปี 2568  และ 3.คืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินบางส่วน 15 ล้านบาทภายในปีนี้

“ชูวิทย์ฟาร์ม”พร้อมแล้วที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai  เพิ่มความน่าเชื่อถือจากลูกค้า คู่ค้า และสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ขยายโอกาสต่อยอดธุรกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว