ก.ล.ต.แนะผถห. RAM ใช้สิทธิออกเสียงกรณีให้ผถห.ใหญ่กู้-IFA ชี้ดบ.ไม่เหมาะสม

HoomSmart.com>> ก.ล.ต.เตือนผู้ถือหุ้น “โรงพยาบาลรามคำแหง” (RAM) ไปใช้สิทธิออกเสียงกรณีการขอสัตยาบันการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมองอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดและต่ำกว่าต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินของบริษัทย่อย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ศึกษาข้อมูลและไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เมษายน 2566 กรณีวาระพิจารณาให้สัตยาบันการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัท เอฟแอนด์เอส 79 จำกัด (F&S) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเห็นว่า ผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติเนื่องจากอัตราผลตอบแทนไม่เหมาะสม

สืบเนื่องจากบริษัทย่อยของ RAM หลายแห่ง ได้นำสภาพคล่องส่วนเกินไปให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ F&S ซึ่งเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยให้กู้ยืมในรูปของตั๋วแลกเงินอายุ 1 ปี แบบไม่มีหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.25 – 2.5 ต่อปี รวมเป็นเงิน 480 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัท F&S ได้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่บริษัทย่อยของ RAM แล้ว แต่การทำธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้ขออนุมัติผู้ถือหุ้นก่อนทำรายการตามประกาศว่าด้วยการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการให้สัตยาบันดังกล่าวในวันที่ 28 เมษายน 2566

นอกจากนี้ RAM ยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก F&S จำนวน 1,000 ล้านบาท โดยต้องชำระคืนเมื่อทวงถาม คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 – 4.00 ต่อปี ซึ่งปัจจุบัน RAM ได้ชำระหนี้เงินกู้บางส่วนแล้ว และคงเหลือหนี้อีก 200 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นี้

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) มีความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการให้สัตยาบันในธุรกรรมการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ F&S เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่บริษัทย่อยได้รับไม่เหมาะสม เพราะต่ำกว่าอัตราตลาดและต่ำกว่าต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินของบริษัทย่อย นอกจากนี้ IFA ได้คำนวณส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายเสมือนมีการปล่อยกู้วนในครั้งนี้แล้วพบว่า จะส่งผลให้กลุ่ม RAM ขาดทุนเป็นเงินจำนวน 3.46 ล้านบาท

คณะกรรมการบริษัทเห็นว่า ผลตอบแทนจากการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.25 – 2.5 ต่อปี ดีกว่าการที่บริษัทย่อยนำไปฝากเงินกับสถาบันการเงินในประเทศที่จะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ ร้อยละ 0.40 – 1.35 ต่อปี การปล่อยกู้ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายลงทุนในขณะนั้น ทั้งนี้ บริษัทและกลุ่มบริษัทย่อยไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดกำไรแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ RAM ครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 จึงมีมติให้บริษัทย่อยเรียกชำระดอกเบี้ยส่วนต่าง จำนวน 3.46 ล้านบาทคืนจาก F&S ซึ่ง F&S ได้ชำระดอกเบี้ยส่วนต่างคืนแล้วในวันที่ 30 มีนาคม 2566

ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบและใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมทั้งสอบถามผู้บริหาร RAM ถึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับประกอบการตัดสินใจออกเสียง ในการประชุมผู้ถือหุ้นด้วย