KBANK-SCB ร่วงมาก เกินผลกระทบ STARK เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

HoonSmart.com>>หุ้น KBANK-SCB ราคาไหลลง หวั่นผลกระทบหาก STARK ผิดนัดชำระหนี้จริง จะส่งผลให้ KBANK ตั้งสำรองฯ 5 พันล้านบาท คิดเป็น 12% ของกำไรปีนี้ ส่วน SCB หากตั้งสำรองฯ 2 พันล้านบาท คิดเป็น 5% ของกำไรปีนี้ ปัญหา STARK กระทบหุ้นทั้งสองแบงก์ร่วงลงมากไป มองเป็นจังหวะในการเข้าซื้อ เพราะผลกระทบต่อ KBANK คิดเป็น 2 บาท/หุ้น ส่วน SCB เจอแค่ 0.60 บาท/หุ้น

เมื่อเวลา 11.54 น.หุ้น KBANK ลบ 2.66% มาที่ 128 บาท ลดลง 3.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,464.36 ล้านบาท

ส่วนหุ้น SCB ลบ 1% มาที่ 99.50 บาท ลดลง 1 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,138.54 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่า บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ให้กับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นั้น หากเกิดขึ้นจริง KBANK อาจจะต้องตั้งสำรองฯราว 5,000 ล้านบาท คิดเป็น 12% ของประมาณการกำไรปีนี้ที่ 43,000 ล้าบาท ส่วน SCB หากต้องตั้งสำรองฯประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของประมาณการกำไรปีนี้ที่ 42,000 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบต่อราคาหุ้น KBANK และ SCB มาก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ ราคาหุ้น KBANK เคยขึ้นสูงสุด 155 บาท แล้วไหลลงมาต่ำสุดแถว 125-126 บาท ซึ่งปรับตัวลงมาเกือบ 30 บาท ขณะที่ผลกระทบที่ KBANK จะได้รับจากปัญหาของ STARK คิดเป็นแค่ 2 บาท/หุ้น ส่วนราคาหุ้น SCB ปรับตัวลงมา 15-16 บาท จากราคาสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 115 บาท ลงมาเหลือราว 99 บาท ทั้งที่ผลกระทบของ SCB จากปัญหาของ STARK มีแค่ 0.60 บาท/หุ้น ดังนั้นราคาหุ้น KBANK และ SCB ที่ปรับตัวลงมากเกินไป จึงเป็นจังหวะในการเข้าไปซื้อ

ด้านบล.ทิสโก้วิเคราะห์กรณี  STARK อาจผิดนัดชำระหนี้ธนาคาร ว่า ไม่สามารถวัดความน่าจะเป็นที่ STARK จะผิดนัดชำระหนี้ และยังไม่มีข้อมูลว่าธนาคารใดให้ยืม
แก่ STARK และขอเตือนว่าไม่น่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าววจากธนาคารต่างๆ อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมเงินจากธนาคารของ STARK นั้นมีจำนวนมาก และหากบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ก็จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายสำรองจำนวนมากสำหรับกลุ่มธนาคาร

สำหรับ STARK มีเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ 8.6 พันล้านบาท  เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3/2565  ในจำนวนนี้ 6.6 พันบาท และ 0.8 พันบาท มีหลักประกันเป็นทรัพย์สินและลูกหนี้ ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 1.2 พันล้านบาท เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกันเงินกู้ 6.6 พันล้านบาท มีราคาประเมินเพียง 1.7 พันล้านบาท  นอกจากน้ยังสงสัยว่าบัญชีลูกหหนี้จะมีมูลค่าที่มีนัยสำคัญหรือไม่ ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระ สมมติว่ามูลค่าของทรัพย์สินยังคงอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท (เป็นมุมมองในแง่ดี) ประเมินว่า ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อจะต้องกันเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 6.9 พันล้านบาท ในกรณีที่ผิดนัดชำระ ซึ่งเท่ากับ 14% ของการตั้งสำรองของกลุ่มธนาคารในไตรมาสแรกปีนี้ และ 34% ของค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของ KBANK และ SCB