ดาวโจนส์ปิดลบ 38 จุด  วิตกศก.ถดถอย แม้เงินเฟ้อต่ำกว่าคาด

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 38 จุด หลังขึ้นติดต่อกัน 4 วัน วิตกเศรษฐกิจถดถอย แม้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.อ่อนตัวลงกว่าคาด รายงายประชุมเฟดเดือนมี.ค.ยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2% ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) ปิดวันที่ 12 เมษายน 2566 ที่  33,646.50 จุด ลดลง 38.29 จุด หรือ 0.11% จากที่ปรับตัวขึ้นติดกัน 4 วันด้วยความวิตกว่าเศรษฐกิจจะถดถอย แม้เงินเฟ้อเดือนมีนาคมอ่อนตัวลงกว่าที่คาด แต่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เดือนมีนาคมเปิดเผยว่า เฟดยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,091.95 จุด ลดลง 16.99 จุด, -0.41% 
ดัชนี Nasdaq ปิดที่  11,929.34 จุด ลดลง 102.54 จุด, -0.85% 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงมาที่ 3.40% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีลดลงมาที่ 3.97% 
ตลาดปรับตัวลงหลังการเผยแพร่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดวิตกต่อวิกฤติภาคธนาคารระดับภูมิภาค และเศรษฐกิจอาจจะถดถอยเล็กน้อยในปีนี้  

รายงานระบุว่า “จากการประเมินผลกระทบของสถานการณ์ภาคธนาคารต่อเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ในการประชุมเดือนมีนาคมได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มถดถอยเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปี และจะฟื้นตัวได้ในช่วง 2 ปีหลังจากนั้น” 

ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยกลบเงินเฟ้อที่ลดลงมากกว่าคาด โดยกระทรวงแรงงานรายงานว่า ในเดือนมีนาคม ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่า 5.1% ที่นักวิเคราะห์คาด  และลดลงจาก 6.0% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.1% ต่ำกว่า 0.2% ที่นักวิเคราะห์คาด  และลดลงจาก 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ 

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบรายปี ลดลงจาก 5.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาด และลดลงจาก 0.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ 

โรนัลด์ เทมเปิล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดจาก Lazard กล่าวว่า ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดและข้อมูลตลาดแรงงานที่คลายความร้อนแรง ถือว่าเป็นข่าวดีแต่ ไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจบลงแล้ว เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานยังห่างกรอบเป้าหมาย 2% ของเฟด และแม้อาจจะลงมาที่เหนือ 3% ในปลายปี เฟดก็ยังต้องมีงานที่ทำอีกมาก่อนประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อ 

นักลงทุนให้น้ำหนัก 69% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม ลดลงจาก 72.9% ก่อนการรายงานเงินเฟ้อ 

นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคมที่กำหนดเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี รวมทั้ง ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนซึ่งจะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ของผู้บริโภค  โดยธนาคารใหญ่ 3 รายคือ เจพีมอร์แกน เวลลส์ ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป จะเปิดเผยผลการดำเนินงานในวันศุกร์ 
 
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกด้วยแรงซื้อในหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ นักลงทุนคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาด  

ดัชนีหุ้นบลูชิพ STOXX 50 แตะระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่ปี 2001 ก่อนการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ แต่ลดลงหลังจากนั้น และปิดตลาดบวกเล็กน้อย 

ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 462.38 จุด เพิ่มขึ้น 0.59 จุด, +0.13% 
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,824.84 จุด เพิ่มขึ้น 39.12 จุด, +0.50% 
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,396.94 จุด เพิ่มขึ้น 6.66 จุด, +0.09%, 
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,703.60 จุด เพิ่มขึ้น 48.43 จุด, +0.31% 

มิเชล มอร์รา จาก Moneyfarm อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูง ดังนั้นเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ย  
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปเองก็ยังวิตกต่อเงินเฟ้อที่ยังสูง โดยประธานธนาคารกลางออสเตรีย ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในเยอรมนีว่า อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 

ธนาคารแคนาดาคงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยติดต่อกันสองการประชุมแล้ว เพราะข้อมูลล่าสุดบ่งชี้เงินเฟ้อชะลอตัว 

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.73 ดอลลาร์ หรือ 2.12% ปิดที่ 83.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.72 ดอลลาร์ หรือ 2.01% ปิดที่ 87.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล