ภาพรวมกำไรแบงก์ดูดี 9 เดือนโกย 1.61 แสนล้าน นักวิเคราะห์เจาะไส้ใน การันตีความแข็งแกร่ง สินเชื่อโต เอ็นพีแอลเพิ่มไม่น่าห่วง หนุนกำไรปีหน้ามีโอกาสโตมากกว่าที่คาดไว้ ดอกเบี้ยขาขึ้น SCB ผ่านจุดลงทุนใหญ่ IT ปีนี้ KBANK กลับมาตั้งสำรองระดับปกติ BBL แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจโตขึ้นมาก นักวิเคราะห์เทคะแนน”ซื้อ”
ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด 11 แห่ง ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3/2561 ครบแล้ว มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 55,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.08% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและขยายตัวเพียง 2.94% จากไตรมาสที่ 2/2561 ที่มีกำไรสุทธิ 53,537 ล้านบาท
ภาพรวมกำไรไตรมาส 3 ได้กำไรพิเศษของธนาคารทหารไทย(TMB)จากการขายหุ้นบลจ.ทหารไทย สัดส่วน 65% มูลค่า 11,800 ล้านบาทมาช่วย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อ และกำไรจากเงินลงทุน ธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ(เอ็นพีแอล)ไม่น่ากังวล ธนาคารบางแห่งจึงถือโอกาสจัดคุณภาพหนี้เข้มข้น และตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นด้วย
“ธนาคารหลายแห่งมีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 แต่ดีขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 3/2560 ยกเว้นธนาคารเกียรตินาคิน(KKP)ลดลง 9.98% เนื่องจากธุรกิจตลาดทุน ซึ่งวัดมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขายเป็นผลจากความผันผวนของตลาดทุน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานดีขึ้น สินเชื่อโต 3.5% จากไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้น 14.1% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ตามการขยายสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ ตลาดมียอดขาย 8 เดือนปีนี้เติบโต 21.1% ”
ส่วนผลงานรวม 9 เดือนปีนี้ ธนาคารทั้งระบบมีกำไรทั้งสิ้น 161,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 11% มีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)ที่มีกำไรสุทธิลดลง 2.85% และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)ลดลง 3%
โดยเฉพาะ SCB มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 34,722 ล้านบาท เติบโต 1.1% จากไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้น 0.1% จากปีก่อน รายได้สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้น 4.8% เป็น 24,390 ล้านบาท จากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างแข็งแกร่งที่ 5.5% แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูง เพิ่มขึ้นถึง 13.6% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามโครงการ Transformation รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี่ใหม่ เพื่อยกระดับการแข่งขันของธนาคารและการขยายฐานลูกค้าใหม่บนระบบดิจิทัล ทั้งนี้ในไตรมาส 3 มีลูกค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลประมาณ 7.9 ล้านคน เทียบกับจำนวนผู้ใช้จำนวน 5.5 ล้านคนเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา และร้านค้าที่ใช้บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบแม่มณี (QR merchant) มากกว่า 1 ล้านร้านค้าในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
การเติบโตที่แข็งแกร่งของธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการกำไรขึ้น เช่น บล.หยวนต้า ปรับคำแนะนำเป็นซื้อ ด้วย 4 ปัจจัยคือ 1. กำไรไตรมาส 3 ตามคาด เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นไม่น่ากังวล 2. แนวโน้มกำไรปี 2562 สดใส ตามความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และที่สำคัญ Cost to income ทำจุดสูงสุดแล้วในปี 2561 หลังสิ้นสุดแผนลงทุน IT ขนาดใหญ่ 3.ปรับประมาณการกำไรปี 2561-2562 เพิ่มขึ้น 7.3% และ 12.3% ตามลำดับ และ 4. ปรับใช้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2562 ที่ 165 บาท ทั้งนี้ตลาดอาจจะมีการปรับเพิ่มประมาณการ รวมถึงราคาเป้าหมายปี 2562 ภายหลังจากการเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์วันที่ 25 ต.ค. 2561
เช่นเดียวกับ บล. เคทีบี(ประเทศไทย) ปรับคำแนะนำจากถือเป็นซื้อ SCB และให้ราคาเป้าหมายใหม่ปีหน้า 160 บาท หลังปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-2562 เพิ่มขึ้น 3.3% และ 1.1% จากการปรับลดต้นทุน ส่งผลให้กำไรสุทธิปีนี้ อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1% เพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้าน IT ที่อยู่ในระดับสูง แต่คาดว่า กำไรสุทธิในปีหน้าจะกลับมาโตได้ดีที่ 7% การเน้นสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตที่เริ่มทำมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดี และเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่สูง คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีโอกาสเร่งตัวขึ้นได้เป็น 3.27% จากปีนี้ที่ 3.21% เชื่อว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้าน IT น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีนี้
ส่วนธนาคารกสิกรไทย(KBANK) บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาหุ้นขณะนี้น่าสนใจ ให้เป้าหมาย 250 บาท ปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 2561-2562 เพิ่มขึ้น 5.7-8.4% จากการปรับต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ คาดแนวโน้มเอ็นพีแอลเริ่มทรงตัวได้ กำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตได้ดีจากการตั้งสำรองฯที่ลดลง หลังจากไตรมาส 3 ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่ระดับปกติที่ 8,000 ล้านบาท ลดลงถึง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาส 2 เกิดจากกำไรจากเงินลงทุนลดลง 47% และเอ็นพีแอลทรงตัวได้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.30%
บล.ทิสโก้แนะนำ”ซื้อ”หุ้นธนาคารกรุงเทพ(BBL) ราคาเป้าหมาย 249 บาท การดำเนินงานดีขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 3 จากต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อที่ลดลง และการลงทุนที่ดีขึ้น โดยการชำระคืนหนี้ทำให้สินเชื่อลดลง 2% จากไตรมาส 2 เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญ
“เราเชื่อว่าผลประกอบการของ BBL จะดีขึ้นในปีหน้า จากการชำระคืนหนี้สินที่สิ้นสุดลง และโอกาสที่ ธปท. จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเริ่มเพิ่มขึ้นในอนาคต ราคาหุ้นป็นระดับที่น่าสนใจ”บล.ทิสโก้แนะนำ
บล.หยวนต้า คงแนะนำซื้อ BBL และปรับราคาเหมาะสมปีหน้าที่ 255 บาท แนวโน้มสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวดีตามแผนการลงทุนภาคเอกชน ซึ่ง BBL เป็นผู้นำด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ มีสัดส่วนถึง 41% ของสินเชื่อรวม รายได้ดอกเบี้ยสุทธิได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น ผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ เอ็นพีแอลและการตัดขายออกไปไม่ต้องเร่งตั้งสำรองในอนาคต และคาดความร่วมมือกับ AIA มีความชัดเจนมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์ประกันของ AIA ผ่านช่องทางสาขา หนุนรายได้ค่าธรรมเนียม