HoonSmart.com >>“พีลาทัส” จ้าวตลาดขนส่ง LPG ของไทย เดินหน้าเข้าตลาดหุ้น mai ซื้อกองเรือ-รถขนส่ง เพิ่มเติมจาก 19 ลำ และ 44 คัน ชูจุดแข็งฐานลูกค้ารายใหญ่มีความมั่นคง สัญญาขนส่งไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
ผลพวงจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ LPG มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนส่ง LPG ซึ่งหนึ่งในผู้นำธุรกิจนี้คือ บริษัท พีลาทัส มารีน “PLT” ที่ถือเป็นรายใหญ่ และเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจขนส่ง LPG ที่มีอัตราการเติบโตตาม GDP ของประเทศ ทำให้เป็นธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง
ไม่น่าเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของ PLT จะมาจากธุรกิจติดตั้งระบบเครือข่ายการสื่อสารกับราชการ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเรือหรือขนส่ง นายวราวิช ฉิมตะวัน กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PLT นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่จบการศึกษาด้านการเงิน แต่กลับหันมาลุยธุรกิจขนส่ง LPG จนเติบโต เล่าถึงความเป็นมาของบริษัทว่า จากภาวะน้ำมันแพง ในปี 2553 ทำให้มีการรณรงค์ให้ใช้ก๊าซ LPG มากขึ้น คุณพ่อจึงมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้ จึงได้เริ่มต้นเข้ามาในธุรกิจขนส่ง LPG โดยเริ่มจากการเช่าเหมาเรือจากบริษัทเรือแห่งหนึ่ง เพื่อขนส่ง LPG ให้กับบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ WP ในลักษณะการกินหัวคิว นำSupply มาmatchกับ Demand เพื่อเรียนรู้ธุรกิจ หลังจากนั้นในปี 2554 จึงได้เปลี่ยนจากการเช่ามาซื้อเรือบริหารเอง โดยเริ่มจากเรือ 3 ลำ และรถเบ้าท์ 5 คัน
จากปี 2553-2566 เป็นเวลา 13 ปีที่ PLT ยืนหนึ่งในธุรกิจนี้ จากเรือ 3 ลำ ก้าวสู่เรือ 19 ลำ และรถเบ้าท์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 44คัน เพื่อรองรับการขนส่ง LPG ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากลูกค้าหลัก 3 ราย คือ 1.บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ที่เป็นลูกค้าต่อเนื่องแบบสัญญาไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด โดยต่ออายุมาแล้ว 3 รอบ จาก 5 ปี 10 ปี และล่าสุด 15 ปี 2.บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ”เวิลด์แก๊ส” และ 3.กลุ่มลูกค้ามาตรา 7 (ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่หนึ่งแสนเมตริกตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าน้ำมันชนิดก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นเมตริกตันขึ้นไป ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี)
รายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจเรือ 95% (แบ่งเป็นในประเทศ 89% ต่างประเทศ 6% ) และรถเบ้าท์ 5% ซึ่งเป็นรายได้จากOR 65% และ WP 35% โดยลูกค้าหลักของทั้ง 2 บริษัทเป็นลูกค้าในภาคครัวเรือนที่ยังมีความต้องการใช้ LPG แม้ว่าราคาจะปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนความต้องการใช้ก๊าซ LPG มากที่สุดถึง 63% ตามด้วยภาคอุตสาหกรรม 22% ปั๊ม LPG โรงบรรจุก๊าซหุงต้ม 11% และที่เหลืออีก 4% เป็นลูกค้าในมาตรา 10
นายวราวิชกล่าวอีกว่า จุดเด่นในการบริหารงานของ PLT คือ ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และมองลูกค้าเป็น Partner ทางธุรกิจ มีการวางแผนบริหารการขนส่งร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้ลูกค้าเชื่อใจและมั่นใจในการทำงาน ทำให้ PLTมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในประเทศ และจะก้าวสู่ต่างประเทศมากขึ้น
สำหรับจุดแข็งที่ทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างมั่นคงส่วนหนึ่งมาจากการที่กรมเจ้าท่าระบุว่า การขนส่งต้องเลือกใช้เรือสัญชาติไทยก่อน ถ้าไม่มีเรือสัญชาติไทยถึงจะใช้เรือต่างประเทศได้ ทำให้บริษัทมีคู่แข่งน้อย ประกอบกับการขนส่ง LPG ค่อนข้างอันตรายกว่าน้ำมัน ทำให้ลูกค้าต้องเลือกใช้บริษัทที่มีประสบการณ์และมีมาตรฐานในการขนส่งสูง เพราะต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งPLT มีความได้เปรียบในด้านนี้ เนื่องจากมีบุคลากรที่อยู่กับบริษัทมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
อีกหนึ่งจุดแข็งในการทำรายได้ของบริษัทมาจากการปรับลดระยะเวลาการปลดระวางเรือจาก 35-40 ปี เหลือเพียง 25 ปี เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการขนส่ง โดยในปีนี้ ปตท.ได้เปลี่ยนสัญญาโดยเพิ่มเกรดเรือเข้าไปในสัญญา และจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น (Freight Charge Basic) ตามเกรดเรือ โดยอายุเรือแบ่งเป็น 3 เกรด คือ เกรด A เพิ่มค่าระวางเรือ 8% เกรด B เพิ่มค่าระวางเรือ 3% และเกรด C ค่าระวางเรือตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เรือของ PLT อยู่ในเกรด B ดังนั้น การที่บริษัทลงทุนซื้อเรือใหม่ ทำให้เรือของบริษัทอยู่ในเกรด A และค่าน้ำมันในการขนส่งลดลง ส่งผลให้บริษัทได้มาร์จิ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทั้งนี้ บริษัทจะเพิ่มเรือเมื่อมีสัญญาจากลูกค้า ทำให้รายได้พร้อมโต
หลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจโดยนำเงินที่ได้จากการระดมทุนวงเงินประมาณ 250-300 ล้านบาท ไปซื้อเรือทดแทนเรือที่ถึงกำหนดปลดระวาง โดยจะซื้อเรือขนาดบรรจุ 1,500-2,000 ตัน จำนวน 4 ลำ และขยายกองเรือ และนำเงินจำนวน 65 ล้านบาท ซื้อรถเบ้าท์เพิ่มอีก 15 คัน พร้อมทั้งขยายโรงจอดให้ใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีการขนส่งทางเรือประมาณ 1.5 แสนล้านต่อวัน รถเบาท์ขนส่งได้ประมาณ 70,000 ตัน
ทั้งนี้ PLT เปิดให้จองซื้อหุ้น จำนวน 280 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.55 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในวันที่ 19-21 เม.ย.นี้ คาดว่าจะนำเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในเดือนเม.ย.นี้ ในกลุ่มธุรกิจบริการ โดยบริษัทเป็นผู้นำธุรกิจขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทางเรือและรถบรรทุก