AOT ทุ่ม 3.68 หมื่นลบ. ผุดดอนเมืองเฟส 3 รับผู้โดยสาร 40 ล้านคน

HoonSmart.com>>บอร์ด”ท่าอากาศยานไทย (AOT)”ไฟเขียวโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 36,829.50 ล้านบาท ชำระค่าก่อสร้างด้วยเงินสดทั้งจำนวน ตามระยะเวลาก่อสร้างโครงการในช่วงงบประมาณ 2566-2572

บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 22 มี.ค.66 รับทราบมติครม. อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร จากจำนวน 30 ล้านคนต่อปี เป็นจำนวน 40 ล้านคนต่อปี โดยมีวงเงินลงทุนเ 36,829.50 ล้านบาท โดย ทอท.จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน

โครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคืนสภาพขีดความสามารถเดิมและพัฒนาพื้นที่ของ ทดม.ให้เต็มศักยภาพสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 40 ล้านคนต่อปี โดยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินภายในประเทศ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการของ ทดม.ให้มีความยั่งยืนในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศและผู้โดยสาร ตลอดจนกิจกรรมทางด้านการบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 – 2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2565) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 ประกอบด้วยกลุ่มงาน 6 กลุ่ม โดยสรุปดังนี้

กลุ่มงานที่ 1 : งานพัฒนาด้านทิศใต้ประกอบด้วย
(1) งานปรับปรุงระบบถนนภายใน ทดม. (ด้านทิศใต้)
(2) งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6
(3) งานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้นเป็นชานชาลาจอดรับส่งผู้โดยสาร
(4) งานปรับปรุงคลังสินค้าหมายเลข 1 และ 2
(5) งานก่อสร้างกลุ่มอาคารบำรุงรักษา และพื้นที่พักขยะ
(6) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ
(7) งานก่อสร้างอาคารดับเพลิงและกู้ภัยด้านทิศใต้

กลุ่มงานที่ 2 : งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย
(1) งานปรับปรุงระบบถนนภายใน ทดม. (ด้านทิศเหนือ)
(2) งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ
(3) งานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ
(4) งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์พนักงาน
(5) งานก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษ VVIP
(6) งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทดม.
(7) งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน
(8) งานปรับปรุงอาคารส่วนกลาง
(9) งานก่อสร้างทางเชื่อมอาคารระหว่างอาคารสำนักงานใหญ่ ทอท. (สนญ.) และ ทดม.

กลุ่มงานที่ 3 : งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน ประกอบด้วย
(1) งานก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway บริเวณทางวิ่ง 21L/03R และ Exit Taxiway เชื่อมต่อทางขับสาย B และ C
(2) งานปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศใต้ เพื่อรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับกิจการการบินและก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอาคารผู้โดยสาร General Aviation (GA)
(3) งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ พร้อมทางขับเชื่อม ปรับปรุงลานจอดภายในทดม. และปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศเหนือเป็นเขตการบิน

กลุ่มงานที่ 4 : งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4

กลุ่มงานที่ 5 : งานสนับสนุนโครงการพัฒนา
(1) ก่อสร้างปรับปรุงระบบจ่ายน้ำประปาพร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำประปาเพิ่มเพื่อให้สามารถจ่ายน้ำประปาไปยังอาคารต่าง ๆ ใน ทดม.ได้อย่างเพียงพอ
(2) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาล และระบบผลิตน้ำบาดาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตน้ำให้เพียงพอกับผู้มาใช้บริการ ณ ผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี
(3) ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่ 3 รับกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงระบบ 115/69 kV แปลงแรงดันไฟฟ้าลงเพื่อใช้งานเป็นระบบ 24/12 kV พร้อมติดตั้งสายส่งไฟฟ้าเพื่อให้บริการกลุ่มอาคารด้านทิศเหนือและติดตั้งสายส่งไฟฟ้าสำหรับให้บริการอาคารที่ก่อสร้างตามโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3

กลุ่มงานที่ 6 : งานสิ่งแวดล้อม
งานจ้างติดตามตรวจสอบผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3

การชำระค่าก่อสร้างโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 จะชำระด้วยเงินสดทั้งจำนวน ตามระยะเวลาก่อสร้างโครงการในช่วงงบประมาณ 2566-2572 (ตามที่ ครม.ได้อนุมัติ) โดยการชำระค่าก่อสร้างมีแผนการเบิกจ่าย

การดำเนินการโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 เป็นการคืนขีดความสามารถ ทดม. และรักษาระดับมาตรฐานการให้บริการ (Level of Service) โดยสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้เพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้น 6 ล้านคนต่อปีซึ่งหลังโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ ทดม.มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปีและเพิ่มหลุมจอดอากาศยาน 12 หลุมจอด เพิ่มจำนวนสะพานเทียบเครื่องบิน 11 สะพาน และปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน นอกจากนี้ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศในภาพรวม เช่น รายได้จากการท่องเที่ยว รายได้ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวรายได้จากอุตสาหกรรมผลิตสินค้า การเพิ่มขึ้นของอัตราการจ้างงาน และการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนรวมทั้งเพิ่มความสะดวกสบายต่อผู้ใช้บริการ ทดม.