ตลท.ชี้ “เครดิตสวิส” กระทบไทยน้อย ถือหุ้น “บจ.” ไทย ในฐานะคัดสโตเดียน

HoonSmart.com>> ตลท.ชี้ “เครดิตสวิส” กระทบไทยน้อย หุ้นร่วงตามตลาดโลก พบถือหุ้น “บจ.” ไทย ในฐานะคัดสโตเดียน ถือแทนผู้ลงทุนทั่วโลก ไม่ต้องกังวล เตรียมคุยนักลงทุนสถาบันต่างประเทศให้ข้อมูลต่อเนื่องมากขึ้น พร้อมทำงานร่วมกับธปท.-กลต. มากขึ้น เหตุเป็นปัจจัยภายนอกอาจมีการตัดสินใจและแชร์ข้อมูลต่างๆร่วมกันมากขึ้น  “กอบศักดิ์”ห่วงเครดิตสวิส ไม่ใช่รายสุดท้าย  

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีธนาคารเครดิต สวิส ประสบปัญหาทางการเงินนั้นมองส่งผลกระทบต่อไทยน้อยมากและเป็นปัญหาเฉพาะของเครดิตสวิส ซึ่งมีปัญหามานานแล้วและมีการให้ข้อมูลมาตลอดถึงแนวทางแก้ไข จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และล่าสุดธนาคารกลางสวิสก็ออกมาช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแล้วจำนวนมากเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงอยากให้นักลงทุนติดตามข่าวสารใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลก่อนตัดสินใจการลงทุน

นายภากร กล่าวอีกว่า ธนาคารเครดิตสวิส เป็นธนาคารใหญ่มาก ธุรกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวกับด้านอินเวสเม้นท์แบงก์กิ้ง คือ การออกตราสารต่างๆ ให้กับบริษัทจดทะเบียน และบริการด้านไพเวทแบงกิ้ง เป็นผู้จัดหาเรื่องการลงทุนต่างๆ ให้นักลงทุนไฮเน็ตเวิร์คและนักลงทุนบุคคลต่างๆ ซึ่งธุรกรรมเครดิตสวิสมีทั่วโลก และในไทย เครดิตสวิสเป็นหนึ่งในโบรกเกอร์ที่ให้บริการนักลงทุนและผู้ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งบริการในไทยที่เป็นธนาคารต่างประเทศหลายแห่ง ครึ่งๆ เป็นผู้บริการการลงทุนและการระดมทุนเป็นต่างชาติครึ่งหนึ่ง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะเป็นหนึ่งในหลายสิบผู้เล่นของไทย และเครดิสวิสเป็นตัวกลาง เป็นโบรกเกอร์ผลกระทบต่อภาคธุรกิจไม่มาก เพราะไม่ได้ปล่อยสินเชื่อ แต่ให้บริการด้านระดมทุน

ส่วนกรณีที่มีชื่อเครดิตสวิสถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยอยู่หลายแห่งนั้น ไม่ได้ถือหุ้นเองโดยตรง แต่เป็นการถือของคัสโตเดียนแบงก์ซึ่งเป็นบริการของเครดิตสวิส ที่ถือหุ้นแทนนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศและนักลงทุนทั่วโลกที่เปิดบัญชีและฝากหุ้นไว้ ซึ่งคัสโตเดียนแบงก์ของทุกธนาคาร มีการทำงานรอบคอบละเอียด แม้บริษัทแม่จะอยู่หรือไม่ ผู้ถือหุ้นยังเป็นนักลงทุนที่เปิดบัญชีไว้ในคัสโตเดียนแบงก์ จึงไม่มีความเสี่ยง ซึ่งปกติแล้วธนาคารพาณิชย์จะไม่ถือหุ้นโดยตรง หน้าที่ของธนาคารพาณิชย์คือการปล่อยสินเชื่อ จะถือหุ้นตรงน้อยมาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์พยายามทำ จะต้องปรึกษานักลงทุนสถาบันต่างประเทศให้ข้อมูลต่อเนื่องมากขึ้น และทำงานร่วมกับผู้กำกับดูแลมากขึ้นทั้งธปท.และกลต. จะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะกรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นปัจจัยภายใน แต่เป็นปัจจัยภายนอกอาจมีการตัดสินใจและแชร์ข้อมูลต่างๆร่วมกันมากขึ้น

ส่วนกรณีที่เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่นั้น นายภากร กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่่มีสามารถใช้ได้ในเวลาที่เกิดความผันผวนเหมือนในอดีต แต่ปัจจุบันยังไม่ถึงจุดนั้น แต่ช่วงนี้ตลาดเปราะบางมาก ไม่ใช่เฉพาะไทย ซึ่งยุโรปและทั่วโลกขึ้นลงวันละ 2-3% เกิดขึ้นได้ตลอด เป็นเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญ แต่ตลาดปกติไม่มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงเราไม่คิดว่าความผันผวนจะเยอะเหมือนวันนี้ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนเรื่องข่าวต่างๆ กระทบกับไทยน้อยมาก แต่เซนทิเมนทั่วโลก จึงให้ความสำคัญข่าวสารข้อมูลให้มากที่สุด ส่วนมาตรการต่างๆ ถ้าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไม่มากไปกว่านี้เราก็สามารถใช้ได้ตามปกติ แต่ไม่คิดว่าเราถึงจุดนั้น วันนี้เป็นตลาดที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงในช่วงนี้

“ข่าวสารต่างๆ ที่มีออกมาทั้งกรณีธนาคารในสหรัฐฯ ภาครัฐออกมาคุ้มครองสิทธิของผู้ฝากเงินอย่างเต็มที่ ด้านสวิสแบงก์ก็พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องมห้ความช่วยเหลือธนาคารที่มีปัญหา จึงอยากฝากนักลงทุน เราเริ่มเห็นความชัดเจนทางการออกมาแก้ไขอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ใช้ยาแรง อยากให้สบายใจขึ้นว่ามีความชัดเจนมากขึ้นจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับออกมาให้ข้อมูล อยากให้ใช้ข้อมูลนี้ใช้พิจารณาต่อว่าสถานการณ์เหล่านี้ดีขึ้นหรืออย่างไร” นายภากร กล่าว

ส่วนโอกาสที่จะนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มาใช้ส่งเสริมการลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบันอีกหรือไม่นั้น นายภาร กล่าวว่า เรื่องแบบนี้เป็นแนวคิดเสมอที่จะให้มีผู้เล่นต่างๆ มากขึ้นในตลาดทุนไทย ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเป็นกลุ่มใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์อยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไรอยากให้มีดีมานด์ใหม่สำหรับการลงทุนในหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลก

อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์อยากให้นักลงทุนติดตามข่าวสารต่างๆ จะเห็นความชัดเจนและความแน่นอนมากขึ้นจะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจในการลงทุนได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แชร์มุมมองผ่านเฟซบุ๊ค แม้ เครดิตสวิส มีปัญหาเฉพาะตัวในหลายๆ เรื่อง ต่างจากธนาคารอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งกรณีของสหรัฐและยุโรปชี้ไปถึงความเปราะบางในระบบสถาบันการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นมากจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกินคาด มา 1 ปีเต็มๆ ของธนาคารกลางต่างๆ ทำให้สถาบันการเงินจำนวนมากจัดการความเสี่ยงได้ไม่หมด มีความเสียหายซ่อนไว้ในพอร์ต พันธบัตรที่ถือจากการลงทุนยิ่งเมื่อเศรษฐกิจซบเซาลง จากหนี้เสียต่างๆ ก็จะอ่อนแอลงไปเพิ่ม

“เมื่อคืนถือเป็นก้าวแรกในการประกาศช่วยเรื่องสภาพคล่อง ต่อไปหากจำเป็นคงต้องเข้าไปอุ้มผู้ฝากให้ชัดเจน และท้ายสุด หากจำเป็นจริงๆ คงต้องคิดหาทางออกให้ เครดิตสวิส กลับมามีเงินทุนที่เข้มแข็งอีกครั้ง เพื่อให้ผ่านไปได้ แต่ล้มไม่ได้ระหว่างทาง โลกก็จะพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย กรณี  เครดิตสวิส  คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย สถาบันการเงินต่างๆ คงก็จะต้องรับกับแรงกระแทก แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นไปอีกระยะ เพราะธนาคารกลางหลักหลายประเทศยังสู้ศึกเงินเฟ้อไม่จบ นำมาซึ่งบทใหม่ของ Perfect Storm ที่ลุกลามไปภาคสถาบันการเงินที่อ่อนไหว เปราะบางมากขึ้น ยิ่งข่าวสารสมัยนี้ ไปไว ธุรกรรมทางการเงินก็แค่ปลายนิ้วจิ้ม ในการถอนเงิน โอนเงิน ขายหุ้น เก็งกำไร ความปั่นป่วนต่างๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย กระเทือนเป็นลูกโซ่ เป็นทอดๆ รวมถึงประเทศไทย แต่ด้วยพื้นฐานของไทยเราที่ดีพอก็เชื่อว่าเราน่าจะผ่านไปได้”นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านตลาดหุ้นไทยวันที่ 16 มี.ค. ยังคงปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศ ระหว่างวันลงไปต่ำสุด 1,538.10 จุด และเด้งขึ้นปิดที่ระดับ 1,554.65 จุด ลดลง 10.35 จุด หรือ -0.66% มูลค่าซื้อขาย 69,665.73 ล้านบาท โดยต่างชาติขายสุทธิ 1,809.63 ล้านบาท สถาบันไทยขายตาม 823 ล้านบาท  ด้านนักลงทุนไทยซื้อสุทธิ 2,623.80 ล้าน

นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นบ่ายนี้ดัชนีได้ลดช่วงลบหลังธนาคารเครดิต สวิสได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยวงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (ราว 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้ตลาดคลายความกังวลไปได้บ้าง ตลาดหุ้นในยุโรปเทรดบ่ายรีบาวด์ขึ้นมาได้ราว 1% กว่า ดาวโจนส์ฟิวเจอร์สก็บวกขึ้นมาได้ ส่วนตลาดอื่นในเอเชียก็ลดช่วงลบลง

“ให้ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% อย่างที่ตลาดไว้หรือไม่ หลังธนาคารในยุโรปประสบกับปัญหาสภาพคล่อง และรอติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ ซึ่งตลาดคาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน หลังเผชิญวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐ”นายสมบัติกล่าว

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.)ตลาดมีโอกาสฟื้นตัว แต่ระหว่างวันให้ติดตามข่าวธนาคารในสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยให้แนวรับ 1,540-1,520 จุด แนวต้าน 1,570-1,580 จุด