CKP เมกะเทรนด์ตัวจริง ขายไฟถูก ช่วยไทย ช่วยลดโลกร้อน

HoonSmart.com>>บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP มาถูกทาง และถูกเวลา ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้เกือบ 10 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ซึ่งเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e/y) ตามเทรนด์โลก หลังจากทุ่มเงินลงทุนครั้งมโหฬาร 1.3 แสนล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี ขายไฟในราคาต่ำคงที่เฉลี่ย 2.16 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงตลอดสัญญา 29 ปี และมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ช่วยให้คนไทยได้ใช้ไฟในราคาที่ไม่สูงมากนักท่ามกลางราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก(GHG) ลงได้ด้วย โดยที่บริษัทมีกำไรสุทธิสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท(ออลไทม์ไฮ) ภายใต้กลยุทธ์มุ่งสู่การเติบโตยั่งยืน

โดย CKP มีโรงไฟฟ้า 13 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ 9,883,066 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) คิดเป็นสัดส่วน 46% ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย หรือมีสัดส่วนเพียง 4.5 % ของโรงไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 70% มาจากพลังงานก๊าซ ถ่านหินและน้ำมัน ที่เหลือ 30% ใช้พลังงานหมุนเวียน

CKP สนใจทำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทโดยกลุ่มช.การช่างเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 โดยเริ่มจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำงึม 2 มีกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ ตามด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว และหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เริ่มก่อสร้างในปี 2555 กล้าลงทุนด้วยเงินทุนมหาศาลประมาณ 1.3 แสนล้านบาท สามารถก่อสร้างและผลิตกระแสไฟฟ้าเสร็จก่อนกำหนด เริ่มจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์

“โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมีสัญญาซื้อขายไฟนานถึง 29 ปี ในราคาคงที่เฉลี่ย 2.16 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ไม่ผันผวนตามราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก และสามารถแข่งขันได้เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานอื่นในประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 2.90-4.30 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง นอกจากสามารถขายไฟในราคาที่ถูกกว่าแหล่งผลิตอื่นประมาณ 17-50% แล้ว ยังมีส่วนช่วยนำมาเฉลี่ยค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.ขายในประเทศไทยด้วย”

ที่สำคัญ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรียังช่วยลดโลกร้อนได้มาก จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.00003 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี ต่ำกว่าไฟฟ้า Grid ประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา 0.4999 tCO2e ถึง 16,663 เท่า เมื่อพิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าในกลุ่ม CKP เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทบางเขนชัย ที่ 0.00378 tCO2e และโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นของบริษัท บางปะอินโคเจนเนอเรชั่น ที่ 0.46577 tCO2e ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของกลุ่ม CKP อยู่ที่ 0.05158 tCO2e  CKP ยังสามารถนำ Renewable Energy Certificate ที่ได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม ไปขายให้กับผู้ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ได้ สร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่ม CKP อีกจำนวนไม่น้อย

ในปี 2565 CKP มีอันดับเครดิตองค์กร ที่ “A” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น ‘หุ้นยั่งยืน’ ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และได้รับรางวัล Rising Star Sustainability Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนนการกำกับดูแลกิจการ (CG Score) ในระดับ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย รวมถึง ได้รับรางวัล ASEAN CG Scorecard (ACGS) ประจำปี 2564 ประเภท ASEAN Asset Class จาก ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

ขณะเดียวกัน CKP มีการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกับนโยบายพลังงานของประเทศไทย ที่เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 30% ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และสอดคล้องกับความต้องการพลังงานของโลก ที่ต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นชัดเจนในปี 2593 อีกทั้ง จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดจากเดิม 89% เป็น 95% ภายในปี 2567 เพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับประเทศไทย พร้อมมุ่งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emissions) ภายในปี 2608

“ซีเค พาวเวอร์”มีส่วนช่วยโลกให้ดูสดใสยิ่งขึ้น บริษัทเองยังมีความแข็งแกร่งขึ้นด้วย ในปี 2565 มีหนี้สินรวม 31,906.6 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากการทยอยชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 0.59 เท่า

ที่น่าสนใจ บริษัทร่วมคือ ไซยะบุรี พาวเวอร์ (XPCL) ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกรีนบอนด์ (Green Bond) เป็นครั้งแรกความต้องการล้นหลามมียอดขายรวมถึง 8,395 ล้านบาท จากยอดเสนอขาย 5,000 ล้านบาท และยอดเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe Option) อีกถึง 3,395 ล้านบาท

ทางด้านผลการดำเนินงานก็เติบโตโดดเด่นสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ(ออลไทม์ไฮ) รายได้รวมทะลุ 10,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก ในปี 2565 มีรายได้รวม 11,418.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 2,083.6 ล้านบาท คิดเป็น 22.3% มีกำไรสุทธิ 2,436.2 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 2,179 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 257.2 ล้านบาท คิดเป็น 11.8% เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (XPCL) มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ความสำเร็จของ CKP ในปี 2565 สะท้อนภาพธุรกิจโรงไฟฟ้าสามารถอยู่คู่กับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี