HoonSmart.com>>หุ้นไทยรีบาวด์แรง 41.11 จุด +2.70% สถาบันไทย-ต่างชาติกลับมาซื้อ 2,518 ล้านบาท บล.กรุงศรีฯมองบวกแรงจากฟอสเซลน้อยลง ตัววัดความเสี่ยงโดยรวมดีขึ้น หนุนลงทุนระยะกลาง-ยาวได้ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) มองโลกไม่หยุดผันผวน เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจสหรัฐยังเสี่ยงถดถอย คาดดอกเบี้ยไทยขึ้นอีก 2 ครั้งอยู่ในระดับ 2-2.5% เดือนพ.ค. 66 รมว.คลัง คาดหุ้นต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
วันที่ 15 มี.ค.2566 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ดัชนีตีกลับแรง ปิดที่ระดับ 1,565.00 จุด เพิ่มขึ้น 41.11 จุด หรือ +2.70% มูลค่าซื้อขาย 69,703.24 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันไทยพลิกกลับมาซื้อ 1,557 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อด้วย 960.80 ล้านบาท ด้านนักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 1,979 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทอ่อนต่อเนื่องปิดที่ 34.62 บาท/ดอลลาร์
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ โดยเอเชียส่วนใหญ่ปิดบวก นำโดยตลาดฮ่องกง +1.52% ส่วนตลาดยุโรป เปิดซื้อขายวันนี้เริ่มปรับตัวลง STOXX ลดลง 1% ส่วนทองคำในประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงราคา 7 ครั้ง จากเปิดบวก 100 บาท หลังจากนั้นมีการปรับขึ้น-ลงครั้งละ 50 บาท สิ้นวันราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อวาน ทองแท่งรับซื้อที่ 30,900 บาท ขายออก 31,000 บาท ทองรูปพรรณรับซื้อ 30,350.32 บาท ขายออก 31,500 บาท ราคา Spot อยู่ที่ 1,896 ดอลลาร์/ออนซ์
” หุ้นไทยดีดกลับแรงจากวันก่อนร่วงลงกว่า 3% หรือ 50 จุด วันนี้หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวขึ้น โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะ 3 แบงก์ใหญ่ KBANK-BBL-SCB ปรับตัวขึ้นแรง อย่างไรก็ตามมาร์เก็ตแคปยังไม่กลับคืนมา หลังจากได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาจากธนาคารสหรัฐล้มลง ส่งผลให้ธนาคารมาร์เก็ตแคปลดลงแห่งละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และราคาหุ้นต่ำ ซื้อขายที่ P/E แถว 10 เท่า
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันนี้รีบาวด์หลังจากร่วงแรงเมื่อวานนี้จากแรงบังคับขาย(ฟอสเซล) อนุพันธ์ที่ออกมามาก โดยวานนี้สถานะคงค้างลดลงมาเหลือ 2.6 ล้านสัญญา ต่ำสุดนับจากกลางปี 2564 ทำให้เห็นว่าได้ขายไปมากแล้ว จนทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนจากตลาดหุ้นสูงกว่าตลาดพันธบัตร (ERP) ซึ่ง Valuation อยู่ในโซนที่จะลงทุนในระยะกลาง ถึงระยะยาวได้
นอกจากนี้ ตัววัดความเสี่ยงก็ลดลงทั้งจากธนาคารในสหรัฐ และสภาพคล่อง ชี้ให้เห็นตลาดสหรัฐความเสี่ยงโดยรวมลดระดับลง ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้ส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวในแดนบวก ส่วนตลาดในยุโรปเปิดเทรดบ่ายนี้ติดลบราว 0.4-0.5% พร้อมให้ติดตามความผันผวนตลาดสหรัฐ และตลาดพันธบัตรของสหรัฐ รวมถึงตัวเลข PPI ของสหรัฐ ที่จะออกมาในวันนี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ในปี 2566 ยังเป็นปีที่เผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0% และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาลเพื่อพยุงเศรษฐกิจ หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง เฟดหันมาปรับทิศทางนโยบายด้วยการเร่งดึงสภาพคล่องออกจากระบบ และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้เกิดวิกฤตการล้มของ Silicon Valley Bank (SVB) ของสหรัฐ ตามติดมาด้วย Signature Bank และ First Republic Bank เนื่องจากขาดสภาพคล่อง สร้างความวิตกกังวลให้กับคนทั่วโลก โดยชาวอเมริกาแห่ออกมาถอนเงิน จากความไม่มั่นใจ และมีโอกาสลุกลามเป็นลูกโซ่
“วันนี้เห็นหุ้นไทยรีบาวด์กลับมาเกือบเท่ากับที่ลงไปเมื่อวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มทำความเข้าใจในสถานการณ์ได้ดีขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าภาพความผันผวนในปีนี้จะยังมีอยู่ แต่เฟดได้สร้างลูกโป่งไว้ตั้งแต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ลูกโป่งที่สำคัญที่พองโตขึ้น คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญ ซึ่งจะต้องจัดการต่อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หลังจากปิดโอกาสเกิดปัญหาเป็นโดมิโนไว้ ประกาศออกมารับประกันเงินฝาก 100% และรับซื้อพันธบัตร ถือว่าสวนทางกับตลาดที่เริ่มมองว่าเฟดจะผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยแล้วหลังจากเกิดวิกฤติแบงก์ ทำให้อาจจะเห็นความผันผวนเกิดขึ้นได้อีกรอบ เงินเฟ้อที่สูงไม่จบง่ายๆ เคื่องมือสำคัญทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอย (Recession) คาดว่าเฟดจะกลับมาลดดอกเบี้ยในปี 2568 หลังจากบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากนั้นจะค่อย ๆ ลดดอกเบี้ยมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ
สำหรับ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งมาอยู่ในระดับ 2-2.5% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายรอบนี้ในช่วงเดือนพ.ค. 2566 ซึ่งถือว่ายังเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจยังสามารถไปต่อได้ หากดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% จากจุดต่ำสุด และทิศทางเงินเฟ้อของไทยคาดว่าในไตรมาส 3/66 จะเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 3%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ปรับตัวลงแรง 50 จุด และดีดตัวกลับมาแรงวันนี้ ว่าขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มรีบาวด์กลับมา แต่คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะ กว่าที่ตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
“ได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ได้รับการยืนยันว่าไม่มีสถาบันการเงินไทยมีธุรกรรมกับทั้ง 2 ธนาคาร เท่าที่ประเมินดูยังไม่มีผลกระทบอะไร รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อตลาดตราสาร ส่วนที่คาดว่าสหรัฐจะปิดธนาคารเพิ่มเติมอีกหรือไม่ คงต้องติดตามดู” รมว.คลัง กล่าว
นายอาคมกล่าวยืนยันว่า แม้จะมีการยุบสภาส่งผลให้เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็มีหน้าที่จะต้องแก้ไขปัญหา และยังสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ หากมีผลกระทบจากกรณีดังกล่าวในระยะต่อไป แต่หวังว่าสถานการณ์ของสหรัฐจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง การปิดธนาคาร เป็นเพียงธนาคารในระดับภูมิภาค ไม่ใช่ธนาคารขนาดใหญ่ จึงไม่มีผลกระทบอะไรมาก