หุ้นไทยดิ่ง 3% ‘ภากร’ ชี้ตื่นเกินจริง เงินเฟ้อก.พ.ตามคาด เฟดขึ้นดบ.0.25%

HoonSmart.com>> หุ้นไทยดิ่งแรงสุดเอเชีย -3.13% ต่ำสุดในรอบเกือบ 20 เดือน วอลุ่มทะลุ 1 แสนล้านบาท ต่างชาติจับมือสถาบันไทยทิ้งกว่า 9 พันล้านบาท “ภากร”แถลงต้นเหตุมาจาก 3 ปัจจัย  Overreact ตลาดไทยปิดช้ากว่าที่อื่น ต่างชาติถือโอกาสสาดใส่ท้ายตลาด โครงสร้างตลาดมี 3 กลุ่มใหญ่น้ำหนัก 50% เจอแรงขายพลังงาน-แบงก์-อิเล็กทรอนิกส์กดดัน ยันไม่มี force sell เล็งเพิ่มนักลงทุนสถาบันไทย ก.ล.ต. แจงเหตุผลแถลงข่าว 6 โมงเย็น ทำตามคู่มือจากดัชนีร่วงแตะ 3% บล.หยวนต้าเผยเงินเฟ้อสหรัฐก.พ.+0.4% MoM, +6.0% YoY ตามคาด  คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25%  

วันที่ 14 มี.ค.2566 ดัชนีหุ้นไทยเหวี่ยงสุดๆ  ขึ้นไปสูงสุดที่ 1,572.36 จุด ก่อนปิดที่ระดับ 1,523.89 จุด ลดลง 49.18 จุด หรือ -3.13% มูลค่าซื้อขาย 103,833.09 ล้านบาท ปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2564 ปิดที่ 1,521.72 จุด แรงซื้อมาจากรายย่อยกลุ่มเดียว 9,770.89 ล้านบาท รับมือไม่ไหวเจอแรงขายของต่างชาติ 4,727.13 ล้านบาท พอร์ตบล. 2,601.72 ล้านบาทและสถาบันไทย 2,442.04 ล้านบาท  ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงกว่า 3% ขณะที่เพื่อนบ้านปิดติดลบ 1-2%

ส่วนตลาดตราสารหนี้ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซื้อสุทธิมากถึง 46,072 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 4,400 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงหลังตลาดปิดทำการว่า หุ้นไทยดิ่งลงหนักถึง 50 จุด เป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วเอเชียที่ปรับตัวลงเฉลี่ย 2-3% ทุกอย่างเกิดขึ้นอยู่ในสหรัฐ และยุโรป ความไม่ชัดเจนยังเกิดขึ้นในเอเชีย และราคาน้ำมันเบรนท์ปรับตัวลงมาถึง 2.1% กดดันหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก รวมถึงยังมีหุ้นการค้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ช้า หลังจากดอกเบี้ยทั่วโลกสูงขึ้น และสภาพคล่องลดลง ทั้งนี้โครงสร้างตลาดหุ้นไทย กลุ่มพลังงานมีน้ำหนักมากที่สุด 20% ตามด้วยแบงก์ และอิเล็กทรอกนิกส์กลุ่มละ 15%

“มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น Overreact ของตลาด เกิดจากแรงขายของต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันราว 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนบุคคลเข้าซื้อเกือบ 10,000 ล้านบาท  แรงขายออกมามากในช่วงท้ายตลาด เนื่องจากตลาดหุ้นไทยถือเป็นตลาดสุดท้ายที่ยังเปิดทำการอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ได้รับผลกระทบจากแรงขายค่อนข้างมากหลังจากตลาดอื่นปิดทำการไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการบังคับขายหุ้น (force sell) รวมถึงยังไม่เห็นสัญญาณการชอร์ตเซลผิดปกติ โดยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ไม่ได้ต่างจากวันอื่นๆ”

ดังนั้นขอให้นักลงทุนติดตามข้อมูลและพิจารณาความสมเหตุสมผลของสิ่งที่เกิดขึ้น นักลงทุนอย่าตื่นตระหนก เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปไม่ได้ตื่นตระหนกเหมือนเมื่อวานแล้ว จากประสบการณ์ไม่เคยเห็นทางการสหรัฐและอังกฤษออกมาตรการและเข้าไปดูแลที่เข้มแข็ง เด็ดขาด รวดเร็วขนาดนี้เลย  ส่วนไทยมองเห็นการฟื้นตัวได้ดีกว่าปีก่อน จากภาคท่องเที่ยว บริโภค โรงแรม โรงพยาบาล รับอานิสงส์การเปิดประเทศ การลงทุนคงต้องติดตามสถานการณ์ในสหรัฐคืนวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในวันพรุ่งนี้

นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันประเภทกองทุนในประเทศหายไปค่อนข้างมาก เนื่องจากเม็ดเงินจากกองทุน LTF หายไป ทำให้เวลาเมื่อมีโอกาสเข้ามาลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนรวมหายไปมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องทำงานร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทยหรือ FETCO
อย่างไรก็ดี

ในช่วงเวลา 18.00 น. ก.ล.ต.เปิดแลถงข่าวเรื่องภาวะตลาดหุ้น  มีการให้ข้อมูลว่า เหตุผลในการออกมาชี้แจงข้อมูล เนื่องจากปฎิบัติตามคู่มือ เมื่อดัชนีปรับตัวลงแรง เช่น -3% ในวันนี้ ต้องมาให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

ด้านบล.หยวนต้า(ประเทศไทย)รายงานว่าสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น +0.4% MoM, +6.0% YoY และเงินเฟ้อฟื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น +0.5% MoM, +5.5% YoY ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของตลาด  ทำให้ตลาดหุ้นซื้อขายล่วงหน้าสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว +0.4%  คาดการณ์ Fed Fund Futures ปรับเพิ่มความน่าจะเป็นอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. นี้เพิ่มขึ้นจาก 73% เป็น 79%

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันนี้ปรับตัวลงมากเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างปรับตัวลง เกิด Panic จากความกังวลวิกฤตธนาคาร และเศรษฐกิจในสหรัฐ ทำให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารออกมาทั่วทั้งภูมิภาค มองเป็นเรื่องของ Sentiment ไม่ใช่ Fundamental

“ดูจากสภาพแวดล้อมแล้วตลาดไม่น่าจะปรับตัวลงเยอะ ต่างชาติเมื่อวานนี้ก็ไม่ได้ขายเยอะ ต้องมีพวกเล่น Short เข้ามาในตลาด ไม่ใช่แค่กลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลง แต่หุ้นขนาดใหญ่โดนขายออกมาด้วย”

นอกจากนี้ ยังเฝ้ารอดูเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้ ถ้าออกมาเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลง ก็จะยิ่งทำให้ตลาดปรับตัวลงได้อีก ท่ามกลางแรงซื้อไม่มี สัญญาณทางเทคนิคไม่มีสัญญาณซื้อด้วย ตอนนี้รอหาจุดกลับตัว ซึ่งก็มองที่จุดต่ำสุดเดิมที่ 1,517 จุด ของเดือนก.ค.65 ถ้าหลุดอีกก็คงจะปรับตัวลงลึก

ส่วนตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้เปิดมาเคลื่อนไหวในแดนบวกได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมองเป็นแค่รีบาวด์หลังปรับตัวลงแรง และยังมีลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้ด้วย พร้อมให้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการยุบสภา เนื่องจากใกล้จะหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค.นี้แล้ว

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) ตลาดยังปรับตัวลงไปได้จนกว่าจะมีสัญญาณของการกลับตัว และขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อสหรัฐที่จะออกมาในคืนนี้ โดยให้แนวรับ 1,517-1,500 จุด แนวต้าน 1,550 จุด