ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืนปี 2561 จำนวน 79 บริษัท เพิ่มขึ้น 14 บริษัทจากปี 2560 สะท้อนบจ. ไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่องในระยะยาว ชูผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นยั่งยืนสูง 3.91% เหนือตลาดรวมอยู่ที่ 3.62%
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จากการที่บจ. สนใจเข้าร่วมประเมินความยั่งยืนเพิ่มขึ้นจาก 90 บจ. เป็น 114 บจ. และมี บจ. อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment: THSI 79 บจ. เพิ่มขึ้น 14 บจ. จาก 65 บจ. ในปีที่ผ่านมา
สำหรับ 79 บจ. ที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนในปี 2561 เป็น บจ. ใน SET 73 บจ. และ mai 6 บจ. มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวม 10.59 ล้านล้านบาท คิดเป็น 59.80% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai ซึ่งเท่ากับ 17.71 ล้านล้านบาท หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นยั่งยืนอยู่ที่ 3.91% สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวมซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.62% โดยหุ้นยั่งยืนมีจำนวนสูงสุดอยู่ในกลุ่มทรัพยากร 17 บจ. อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 14 บจ. และอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม 13 บจ. ตามลำดับ
ทั้งนี้ เป็นหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่า 1 แสนล้านบาท 25 บจ. มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 1 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท 26 บจ. และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท 28 บจ. (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2561)
การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ คัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่ครอบคลุมคำถามในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงบรรษัทภิบาล โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทบทวนคำถามในแบบประเมินทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล
ทั้งนี้ บจ. ที่ผ่านการคัดเลือกในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงบรรษัทภิบาล หรือเป็น บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI รวมทั้งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น การกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ บจ. และการไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสังคม และบรรษัทภิบาล เป็นต้น โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และหน่วยงานในตลาดทุน เป็นผู้กลั่นกรองให้กระบวนการคัดเลือกมีความโปร่งใสและเชื่อถือได้
การส่งเสริมให้ บจ. ตระหนักถึงความสำคัญและมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณภาพ บจ. ทำให้ตลาดทุนไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” มุ่งหวังให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งให้ผู้ลงทุนมีเครื่องมือช่วยพิจารณาการลงทุนตามแนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างโอกาสการได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งนี้ รายชื่อหุ้นยั่งยืนที่ประกาศในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการคัดเลือกเพื่อจัดทำดัชนี SETTHSI ปี 2562 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark) ในหุ้นยั่งยืน