HoonSmart.com>> “สามารถ ดิจิตอล” เผยบริษัทย่อย “ไอ-โมบาย พลัส” ชนะคดี “ทีโอที” กรณีบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G สั่ง “ทีโอที ชำระเงิน 748 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง ชี้คดียังไม่จบ “ทีโอที” มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน
บริษัท สามารถ ดิจิตอล (SDC) แจ้งผลคำพิพากษาของศาลแพ่งเกี่ยวกับกรณีบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัท ไอ-โมบาย พลัส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยชนะคดี โดยให้บริษัท ทีโอที ชำระเงิน 748.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (4 ต.ค.2561) จนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 และอัตรา 5% ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัทย่อยกับให้ชดใช้ฤชาธรรมเนียมแทนบริษัทย่อย โดยกำหนดค่าทนายความ 300,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้บริษัท ทีโอที ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่บริษัทย่อยชนะคดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ 9 มี.ค.2566
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2552 บริษัท สามารถ ดิจิตอล ได้ทำบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับบริษัท ทีโอที ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2554 บริษัท สามารถ ดิจิตอล ได้ทำสัญญาโอนสิทธิและหน้าที่ตามบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ให้กับบริษัท ไอ-โมบาย พลัส ซึ่งเป็นบริษัทย่อย
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 บริษัท ทีโอที (ปัจจุบันบริษัท กสท โทรคมาคม ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท ทีโอที เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแจ้งให้กสทช.ทราบล่วงหน้าก่อนแจ้งให้บริษัท ไอ-โมบาย พลัส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทราบถึงการยกเลิกความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2560 บริษัทย่อยได้ยื่นหนังสือแจ้งขอยุติการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ i-mobile 3GX ต่อบริษัท ทีโอที และกสทช. เนื่องจากระบบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3GX ของบริษัท ทีโอที เกิดการขัดข้องบ่อยครั้งและบริษัท ทีโอที ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ประกอบกับบริษัท ทีโอที ไม่ได้ขยายสถานีฐานตามแผนธุรกิจ เพื่อให้มีพื้นที่ให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 กสทช. ได้มีหนังสือถึงบริษัทย่อยเพื่อแจ้งให้ทราบถึงความเห็นชอบให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึงสิ้นสุดลง รวมทั้งเห็นชอบแผนการดำเนินการเยียวยาผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ i-mobile 3GX ต่อมาบริษัทย่อยได้มีหนังสือถึงกสทช. เพื่อแจ้งยุติการให้บริการอย่างถาวรดังกล่าวในวันที่ 18 ก.ค.2560 ซึ่งได้ตกลงร่วมกันกับบริษัท ทีโอที เรียบร้อยแล้ว
ต่อมาบริษัทย่อยได้รับแจ้งจากบริษัท ทีโอที เรียกร้องให้จ่ายค่าระบบลงทะเบียนผู้ใช้ภายในพื้นที่ (Home Location Register, HIR) จำนวนเงิน 19 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผู้บริหารและฝ่ายกฎหมายของบริษัทย่อยมีความเห็นว่าบริษัทย่อยไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายชำระเงินค่าระบบดังกล่าว เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลบนระบบดังกล่าวของบริษัทย่อยมีจำนวนต่ำกว่าโควตาในเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาให้จ่ายชำระและบริษัทย่อยได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ทีโอที ต่อศาลแพ่งตั้งแต่เดือนต.ค.2561