EA-BYD-WAVE มอง โอกาสทอง คาร์บอนเครดิต

HoonSmart.com>>”ตลาดหลักทรัพย์”สนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ธุรกิจไทยในตลาดโลก ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เผย 77 องค์กรไทย ตั้งเป้าเรื่อง Net Zero  มองเป็นโอกาสทำธุรกิจคาร์บอนเครดิต  ตลาดตื่นตัวมาก ต้องการไม่ต่ำกว่า 14 ล้านตัน สามารถซื้อ-ขายกับประเทศยุโรปได้ เพราะต้นทุนในการกักเก็บสูงมาก EA คาดสะสมได้ 10 ล้านตัน/ปี  บล.บียอร์นตั้งเป้าเดินรถเมล์ EV  3,000 คัน ยื่นขอคาร์บอนเครดิตได้ 250 ตัน/คัน รวม 7.5 แสนตัน/ปี อายุโครงการ 7 – 10 ปี   WAVE  จับมือบจ.เซ็นสัญญาขาย-ที่ปรึกษาระยะยาว 

สำนักข่าวหุ้นสมาร์ท จัดงานสัมมนา ฉลองครบรอบ 5 ปี โดยนายศรพล ตุลยเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษ “เทรนด์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน”ว่า กระแสเรื่องความยั่งยืน ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลันในหลายด้าน ทั้งการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน ทำให้อาชีพด้านความยั่งยืน เป็นอาชีพที่อินเทรนด์ ซึ่งดีสำหรับโลกและนักลงทุน

ศรพล ตุลยเสถียร

“ปัญหาโลกร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 – 2% เป็นเรื่องสำคัญ ความเท่าเทียมทางเพศ ชาย หญิง ความหลากหลายในองค์กร เป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น ถ้าเราปรับตัวไม่ทันเป็นความเสี่ยง แต่ปรับตัวได้เป็นโอกาส เช่น เทรนด์เรื่องลดคาร์บอน ได้เกิดขึ้นแล้ว”

ปัจจุบันสังคมโลกและไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จากผลสำรวจ 500 บริษัทในสหรัฐอเมริกา พบว่า 88% ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน และ 73% เชื่อว่า ESG ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว สำหรับบริษัทไทย 92% ของ 800 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีนโยบายที่จะทำเรื่องความยั่งยืน มีการวางนโยบาย และกิจกรรม เกิดการตื่นตัวมากขึ้น

“เพราะความยั่งยืนจะไม่ยั่งยืน ถ้าผู้บริโภคไม่สนับสนุน” ศรพลกล่าวถึงการปรับตัวของบริษัทต่าง ๆ ในโลกนี้ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น รวมไปถึงกองทุนที่ลงทุนในหุ้นก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน โดยจากข้อมูลกองทุนทั่วโลกกว่า 5,000 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการลงทุนในหุ้นยั่งยืน

สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีดัชนี THSI จากประมาณ 169 มีบริษัท 118 บริษัทที่มีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่การดำเนินการเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม แต่มีผลต่อบริษัทด้วย เพราะการลดของเสีย (Waste) การประหยัดพลังงาน จะส่งผลดีต่อผลกำไรของบริษัทด้วย

ระเบียบโลกใหม่คุมเข้มก๊าซเรือนกระจก
นาย เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บรรยายในหัวข้อ “ผนึกกำลังสร้างโลกสีเขียว” โดยระบุว่า ความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า เป็นกรรมเก่าจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การเผาไหม้พลังงานจากฟอสซิลทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์เกิดการสะสมในบรรยากาศ เป็นก๊าซเรือนกระจก

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์

“การบุกรุกป่า เปลี่ยนป่าเป็นเมือง ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ที่ปล่อยมีเทนและแก๊สชีวภาพ สะสมบนชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นเยื่อกระจกล้อมรอบ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงตอนนี้ อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 1 – 1.5 % เกิดการละลายของน้ำแข็ง โลกเหมือนอยู่ในตู้อบ เกิดน้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ซึ่งทั่วโลกกลัวมาก” เกียรติชายกล่าว

ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้ว จึงตื่นตัวในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปิดกว้างสำหรับประเทศขนาดเล็กที่ลดคาร์บอนไดออกไซด์เห็นผล จึงเกิดการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และตามข้อตกลงปารีส ได้กำหนด Net Zero Emission เป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ทำให้บริษัทต่าง ๆ รวมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ตื่นตัวและมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องมีการประเมิน จัดทำเป็นรายงานความยั่งยืนของแต่ละองค์กร

นายเกียรติชาย กล่าวว่า ล่าสุด สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการ CBAM ข้อบังคับในการเสียภาษีคาร์บอน ภายใน 3 ปี สำหรับอุตสาหกรรม เช่น ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อลูมิเนียม พลังงาน โดยต้องเริ่มรายงานการปล่อยคาร์บอนในเดือนต.ค. 2566 นี้ เป็นแรงที่กดดันที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องดำเนินการมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก ปัจจุบันองค์กรในไทย 77 องค์กร ได้ตั้งเป้าหมายเรื่อง Net Zero ซึ่งมองเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่สามารถทำธุรกิจคาร์บอนเครดิต เพื่อซื้อ-ขายกับประเทศยุโรปได้ เพราะต้นทุนในการกักเก็บคาร์บอนสูงมาก

สำหรับปีนี้ ตลาดมีการตื่นตัวเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากขึ้น มีบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาร่วม ทำให้มีความต้องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ต่ำกว่า 14 ล้านตัน จากช่วง 4 – 5 ปีก่อน มีการซื้อขายกันอยู่ที่ 1 ล้านตัน มีโครงการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตกว่า 144 โครงการ โดยมีบริษัทที่เป็นเจ้าของ 108 บริษัท คาดว่าปี 2566 คาดว่าจะมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 128 ล้านบาท และในตลาดต่างประเทศ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ทำการซื้อขายในนามรัฐบาลกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในโครงการ EV Bus เป็นต้น

 

โอกาสหุ้นเมกะเทรนด์
ทั้งนี้ ในการสัมนา “ESG และคาร์บอนเครดิต หุ้นเมกะเทรนด์” ออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ (BYD) ได้เล่าถึงการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ว่า จากเดิม บียอนด์ ทำธุรกิจหลักทรัพย์ให้บริการครบวงจร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ธุรกิจหลักทรัพย์แข่งขันสูงมาก ลดราคา แย่งมาร์เก็ตติ้ง แย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ความสามารถทำกำไรลดลง บียอนด์เจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน ปีที่ผ่านมาขาดทุนประมาณ 60 ล้านบาท  แต่แนวโน่มจะดีขึ้น

ออมสิน ศิริ

“เรามองไปข้างหน้าทำอย่างไรให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน เราจึงมองโอกาสการเติบโตในธุรกิจยั่งยืน สิ่งที่ทำเพิ่มเติม คือการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อลงทุนในธุรกิจรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าได้ ปีนี้เพิ่มอีก 1,800 คัน รวมประมาณ 3,000 คัน และคาดว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีและสร้างการเติบโตในอนาคต”

สำหรับการลงทุน EV Bus ของบล.บียอนด์ มีเป้าหมายเดินรถจำนวน 3,000 คัน แต่ละคัน ยื่นขอคาร์บอนเครดิตได้ 250 ตัน/คัน รวมได้ 7.5 แสนตัน/ปี อายุโครงการ 7 – 10 ปี เกิดเครดิตเพิ่มขึ้นทุกปี และตลาดซื้อ-ขายเปิดมากขึ้น โดยบียอนด์ได้เซ็นเอ็มโอยู่ร่วมมือกับ EA ถือเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต

EA คาดสะสมคาร์บอนเครดิตได้10 ล้านตัน/ปี
นายวสุ กลมเกลี้ยง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์การลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า ปัจจุบัน EA มี 3 ธุรกิจหลัก พลังงานหมุนเวียน B-100 พลังงานลม แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ไฟฟ้า และรถ EV Bus จำนวน 200 คัน มีเรือเฟอร์รี่ รถบรรทุก EV มีรถไฟไฟฟ้า ที่เปลี่ยนหัวจักรเป็นรถไฟฟ้า แต่ใช้รางเดิม ซึ่งช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ได้เร็วขึ้น ขณะที่ลงทุนลดลง

วสุ กลมเกลี้ยง

“วันนี้โลกกังวลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดความต้องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ตลาดหันมามองและลดคาร์บอน และส่งผลต่อตลาดทุน ตลาดเงิน มีกองทุนต่าง ๆ เน้นลงทุนในหุ้นที่ลดปล่อยคาร์บอน ลดคอร์รัปชั่น ซึ่ง EA มีทั้งกรีนบอนด์ กรีน โลน เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว” นายวสุกล่าว

ปัจจุบัน EA มีโรงงานแบตเตอรี่ และมีแผนนำมาใช้ไหมเป็นแบตสำรองของรถไฟฟ้าทั้งหมดของ EA นอกจากนี้ ยังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 3.5 แสนตัน/ปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1.6 ล้านตัน/ปี ปัจจุบัน EA สะสมคาร์บอนเครดิตได้และปีนี้คาดว่าจะสะสมได้ 10 ล้านตัน/ปี


WAVE เซ็นสัญญาบจ.ให้ปรึกษาระยะยาว
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (WAVE) กล่าวว่า ได้ก่อตั้งบริษัท เวฟ บีซีจี สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากเป้าหมายของประเทศไทย ในปี 2030 ลดคาร์บอนไดออกไซด์อีก 30%

 

เจมส์ แอนดริว มอร์

นอกจากนี้ องค์กรไทย เริ่มได้รับแรงกดดันหลายด้านในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าจะอยู่ในภาคสมัครใจ ทั้งเรื่อง CBAM กองทุนจากต่างประเทศที่คำนึงถึงเรื่อง ESG ถ้าบริษัทใดมีคะแนนไม่ถึง ไม่สามารถลงทุนได้ รวมถึงการเงินสีเขียว การปล่อยกู้ กรีนโลน ที่มีข้อกำหนดเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผู้บริโภคหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทเวฟ บีซีจี เริ่มสร้างรายได้ มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว และยังมีการเซ็นสัญญาระยะยาวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้บริการที่ปรึกษาให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้อส่วนใหญ่ในตลาด ช่วยวางแผนกลยุทธ์ วางแผนด้านการเงิน โครงการลดคาร์บอน ปลูกป่า ข้าวคาร์บอนไรซ์ สนับสนุนการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการลดคาร์บอนฯ และลงทุนนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน