EA ปลื้มโครงการแลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” รถโดยสาร EV กับสวิสฉลุย

HoonSmart.com>> “พลังงานบริสุทธิ์” ฉลุย! โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV ของบริษัท ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์และรัฐบาลไทย หวังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชูโครงการแรกของทวีปเอเชียที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ด้าน “Klik Foundation” สนับสนุนด้านการเงินผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมโครงการมีสถานะการเงินแข็งแกร่งมากขึ้น

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการอันดับแรกๆ ของโลก และเป็นโครงการแรกของทวีปเอเชียโดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการเราจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอน และช่วยกระตุ้นบรรยากาศที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนากิจกรรมที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald, Head International, Kilk Foundation กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่องเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตผ่าน Article 6 นั้นมีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้เรายังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียงเพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารประจำทาง EV ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นโครงการระหว่างประเทศโครงการแรกที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 และมีทาง Klik Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกับบริษัท South Pole ในการพัฒนาโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงเดิมที่เป็นก๊าซ NGV หรือน้ำมันดีเซล ในขณะเดียวกันโครงการนี้จะช่วยขยายระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าให้กระจายไปรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยทาง EA และ Klik Foundation ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขาย Carbon credit กันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับการพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Klik Foundation โดยทาง Klik Foundation จะทำการซื้อ Carbon credit ที่เกิดขึ้นจากโครงการและนำ Carbon credit ดังกล่าวไปลดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ โดยกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศมีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions) และมีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน