GMM MUSIC โตฝ่าโควิดกำไรทะลุ 350 ล้าน ตั้งเป้าปี 66 รายได้เพิ่มขึ้น 25%

HoonSmart.com>> “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” ในกลุ่ม GRAMMY โชว์ผลงานฝ่าโควิด ปี 65 รายได้รวม 3,043 ล้านบาท เติบโต 67% กำไร 355 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปี 66 รายได้เติบโต 25% แตะ 3,800 ล้านบาท เน้นการเติบโตทุกส่วนธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม และสร้างโอกาสขยายตัวธุรกิจใหม่ ตอกย้ำการเป็น MUSIC INFRASTRUCTURE อันดับ 1 พร้อมเน้น 5 Core Focus ขับเคลื่อนสำคัญ

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) เปิดเผยว่า แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มาอย่างยาวนาน และยังเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่ต้องหยุดจัดงานคอนเสิร์ตต่างๆ แต่ GMM MUSIC ก็โชว์ศักยภาพ สร้างการเติบโตแบบสวนกระแส เป็นผลมาจาก 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสำคัญของแหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งชี้ถึงโอกาสของการเจริญเติบโตในระยะยาว ประกอบด้วย ธุรกิจ Digital Business ในปี 2565 มียอดรายรับ 1,089 ล้านบาทและธุรกิจ Right Management Business ในปี 2565 มียอดรายรับ 236 ล้านบาท

นอกจากนี้เมื่อภาครัฐมีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนการเปิดประเทศ ส่งผลดีต่อธุรกิจหลักให้ฟื้นตัว สามารถกลับมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจ Showbiz และธุรกิจ Live Show สามารถกอบกู้สถานการณ์ของบริษัทฯในเชิงบวกให้ดีขึ้น แม้มีระยะเวลาการจัดงานเพียง 7 เดือน ธุรกิจ Showbiz สร้างยอดรายรับ 542 ล้านบาทและธุรกิจ Live Show สร้างยอดรายรับ 410 ล้านบาท

นอกจากผลงานด้านธุรกิจของ GMM MUSIC ที่เติบโตสร้างผลกำไรให้อย่างเป็นรูปธรรม ยังมีอีกหนึ่งส่วนที่เติบโตอย่างเห็นชัดเจนก็คือ กลุ่มมิวสิคคอนเทนต์ (การผลิตเพลงและศิลปิน) ที่สร้างการเติบโตผ่านความร่วมมือกับทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลที่คนไทยนิยมใช้ฟังเพลง สามารถนำคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นให้เกิดความประทับใจ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา GMM MUSIC มียอดการสตรีม ทั้งหมด 14,000 ล้านการสตรีม เกิดจากการสร้างเพลงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 404 เพลง โดยแบ่งออกเป็น 30 อัลบั้ม, 153 ซิงเกิล, 44 เพลงประกอบภาพยนตร์ และ 48 เพลงคัฟเวอร์

อีกทั้งถูกนำไปสร้างและแชร์เป็นเพลย์ลิสต์จำนวน 3,817 เพลย์ลิสต์ ซึ่งเพลงใหม่ทั้งหมดนั้นสร้างการสตรีมจำนวน 2,150 ล้านการสตรีม คิดเป็น 16% ของการฟังเพลง GMM MUSIC ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยการสตรีมเพลงใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลก โดยมียอดการสตรีมอยู่ที่ประมาณ 15% หากแยกประเภทของแนวเพลงที่ได้รับความนิยมในการฟังของ GMM MUSIC 3 อันดับแรก คือ เพลงร็อก 40% เพลงลูกทุ่ง 32% และเพลงป๊อป 14%

นอกจากนี้ในปี 2565 เพลงและศิลปินของ GMM MUSIC ยังคงครองใจแฟน ๆ ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้มีเพลงยอดนิยมเข้าไปติดอันดับชาร์ตเพลงของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ และยังเป็นปีของการแจ้งเกิดศิลปินใหม่ ครบทุกแนวเพลง ทั้งป๊อป ร็อก และลูกทุ่งอีกด้วย ทั้งนี้ภาพรวมความสำเร็จทางด้านการผลิตสามารถสรุปได้โดยย่อในหลากหลายมิติ ดังนี้

ทิศทางการดำเนินธุรกิจ ปี 2566 ตั้งเป้ารายได้โต 25% เน้นการเติบโตทุกส่วนธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเดิม และสร้างโอกาสขยายตัวธุรกิจใหม่ เพื่อตอกย้ำการเป็น MUSIC INFRASTRUCTURE อันดับ 1 พร้อมเน้น 5 Core Focus เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญพร้อมนำพาทุกธุรกิจของ GMM MUSIC พุ่งทะยานไปสู่เป้าหมายการสร้างรายได้ 3,800 ล้านบาทในปี 2566 นี้อย่างที่ตั้งไว้

5 Core Focus ของ GMM MUSIC ได้แก่

1. Entertainment Data Intelligence

– คือการลงทุนแพลตฟอร์มด้าน Big Data เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ GMM MUSIC ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่าย Showbiz หรือ ฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

– GMM MUSIC ได้ลงทุนในการใช้ Machine Learning และ AI เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของแฟนเพลง ศิลปิน แบรนด์สินค้า ตลอดจนสื่อทุกแขนงที่มีความเกี่ยวพัน นำไปสู่ความแม่นยำอันสูงสุดในการเลือกใช้ศิลปิน การหาความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ กับแบรนด์สินค้า หรือสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลายตลอดจนนำไปสู่เรื่องของการทำ Data Prediction ที่สามารถมองเห็นความต้องการและปริมาณการซื้อบัตรใน Showbiz สาขาต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำก่อนการขาย

– ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่ GMM MUSIC จะเดินหน้าขยาย Music Data สู่ Personalization Commerce ในเร็ววันนี้ และจะเติบโตสู่การเป็น Entertainment Big Data ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด

2. No.1 Music Performance in Thai Market

– สร้างสรรค์และจัดวางแบรนด์ศิลปินให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์

– ขยายกำลังการผลิตเพลงเพิ่มเป็น 500 เพลง 32 อัลบั้ม 160 ซิงเกิล 5,000 เพลย์ลิสต์ ต่อปี

– รักษามาตรฐานการเป็นค่ายเพลงที่มียอดการสตรีมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้งจากเพลงใหม่และเพลงเก่า

3. Rebuild The New Generation

– วางเป้าหมายในการสร้างศิลปินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปินร็อก (New Rock Idol),

ศิลปินลูกทุ่ง (New Country Idol) และศิลปินป็อปไอดอล (New Pop Idol) พร้อมเดบิวต์สู่ตลาดมากกว่า 15-20 ศิลปินใหม่

– สร้างเครือข่าย Recruitment ในการเฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัด ผ่านความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันสอน ร้อง-เต้น โมเดลลิ่ง มิวสิคคอมมูนิตี้ โปรดิวเซอร์ และผู้จัดในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะมีการคัดเลือกเข้า-ออกตลอดอย่างต่อเนื่องทั้งปีด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นของ GMM ACADEMY

4. Digital Crossover

– สร้างรายได้ให้เติบโตสูงสุดในกลุ่ม Digital Music ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน Digital Performance

– นำความเชี่ยวชาญต่อยอดในการสร้าง Performance ที่สูงขึ้นในทุกสื่อโซเชียลมีเดียของค่ายและศิลปิน

– เชื่อมโยงโอกาสระหว่าง Music Marketing, Music Optimization และ Music Playlist ให้เกิดการเติบโตทั้งด้านรายได้ และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภค

5. No.1 Showbiz in Thailand

– ยึด 7 จุด ยุทธศาสตร์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้าน Music Festival – Indoor Concert ที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด มีศิลปินมากที่สุด และมียอดผู้ชมมากที่สุด

– ขยายเข้าสู่โอกาสใหม่ ในการสอดแทรกเข้าสู่งานเทศกาลประจำจังหวัด งานฮาโลวีน งาน LGBTQ+ งานเทศกาลดนตรีระดับสากล คอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง

“GMM MUSIC มีความเชื่อมั่นว่าการเติบโตที่ยั่งยืนคือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจในตอนนี้ GMM MUSIC ให้ความสำคัญในคุณค่าของศิลปิน ทีมงาน ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง และพนักงานทุกคน ที่จะอยู่ในวิชาชีพที่มีแรงบันดาลใจและต้องการความมั่นคงในธุรกิจ บวกกับความพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่าง ๆ ค่ายนอก, โปรโมเตอร์, แพลตฟอร์ม, คู่ค้าทางธุรกิจ หรือแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เพื่อที่จะมุ่งมั่นทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรง ต่อเนื่อง ­และยั่งยืน”นายภาวิต กล่าว