เงินเฟ้อไทยเดือนก.พ.66 เพิ่มขึ้น 3.79% ต่ำสุดรอบ 13 เดือน

HoonSmart.com>> “กระทรวงพาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือนก.พ.66 เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด คาดเดือนมี.ค.ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โบรกฯ มองบวกกลุ่มอิงการบริโภค

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนก.พ.2566 เท่ากับ 108.05 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.10 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 3.79% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเริ่มใกล้เข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้สาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัวไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.12% (MoM) ตามหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ลดลง 0.41%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมสินค้าอาหารสดและพลังงาน (Core CPI) ในเดือน ก.พ.2566 เท่ากับ 104.17 ขยายตัว 1.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค.2566 ที่ขยายตัว 3.04%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมี.ค.2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาและราคาขายปลีกน้้ามันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้้ามันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่้ากว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมี.ค.2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการด้าเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรส้าคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทยตามล้าดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2.0 – 3.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยส้าคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนก.พ.2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 51.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในช่วงเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี

บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน (CNS) เผยเงินเฟ้อไทย ก.พ. 23 +3.8% YoY ดีกว่าที่ตลาดคาด และลดลงมีนัยฯ จาก +5.02% YoY ขณะที่อิงภาพ MoM ปรับตัวลง -0.12% MoM จาก +0.3% MoM บวกต่อหุ้นอิงการบริโภค (ค้าปลีก, เครื่องดื่ม, สื่อสาร)

ทิศทางเงินเฟ้อระยะถัดไปคาดปรับตัวเชิงบวกต่อเนื่อง อิงภาพ 1) สถานการณ์ราคาสินค้าช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. 66 เทียบกับเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา พบว่า ราคาหมู ไก่ และไข่ไก่ เฉลี่ยทั่วประเทศ ปรับตัวลดลง 2-9% เป็นบวกต่อแนวโน้มทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ 2) วันที่ 8 มี.ค.นี้ จะมีการพิจารณาสรุปตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน พ.ค.- ส.ค.นี้ ก่อนเปิดรับฟังความเห็น โดยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตามประเมินแรงกดดันจากการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย BOT จะเป็นปลายทางแล้ว จะเป็นภาพบวกต่อ SET ลดแรงกดดัน Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นให้ชะลอลง ทำให้ส่วนต่างกับ Earnings Yield นิ่งขึ้น

ทิศทางเงินเฟ้อที่ดีขึ้น คาดหนุนการบริโภคในประเทศ มองบวกต่อหุ้นอิงการบริโภค (ค้าปลีก, เครื่องดื่ม, สื่อสาร) เน้น CPALL, MAKRO, BJC, DOHOME, ADVANC, TRUE, SAPPE, ICHI

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองเงินเฟ้อเดือน ก.พ. เป็นบวกต่อ Domestic play เช่น BJC, CPALL, OSP, KBANK, SCB เป็นต้น

บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองโดยรวมเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีก รวมถึงไฟแนนซ์ที่ได้อานิสงส์บวกจากแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ที่ลดลง