“OSP” ไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 661 ล้านบาท ลดลง 6.9% จากงวดปีก่อน เหตุรายได้หด 3.5% จาก 3 ปัจจัยเลิกธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้ายูนิชาร์ม, หยุดซ่อมบำรุงเตาหลอมหนึ่งเตาโรงงานผลิตแก้วและขายเงินลงทุน “ฟิวเจอร์ กรุ๊ป” ผู้บริหารมั่นใจพื้นฐานปึ๊ก หุ้นเข้าเทรด 17 ต.ค.นี้ นักลงทุนตอบรับ
บริษัท โอสถสภา ( OSP ) รายงานผลประกอบการปี 2560 กำไรสุทธิ 2,833.66 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 22.05 ล้านบาท หรือ 0.78 % เทียบช่วงเดียวกันปี 2559 กำไรสุทธิ 2,811.61 ล้านบาท
สำหรับงวดไตรมาส 2 / 2561 กำไรสุทธิ 661.06 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.27 บาท ลดลงเล็กน้อย 49 ล้านบาท หรือ 6.90 % เทียบช่วงเดียวกับปี 2560 ที่มีกำไร 710 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.07 บาท
ส่วนงวด 6 เดือน สิ้นสุด 31 มิ.ย. 2561 กำไรสุทธิ 1,444.39 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.08 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2560 มีกำไร 1,733.76 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 7.51 บาท
บริษัท ฯ ชี้แจงไตรมาส 2 /2561 รายได้ขายและการให้บริการลดลง 431 ล้านบาท หรือ 3.5 % โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1. การเลิกธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าของ ยูนิชาร์ม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 2. รายได้การขายขวดแก้วลดลง เนื่องจากหยุดซ่อมบำรุงเตาหลอมหนึ่งเตาของโรงงานผลิตขวดแก้วจ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือนธ.ค. 2560 – เม.ย. 2561 และ 3.การขายเงินลงทุนในบริษัท ฟิวเจอร์ กรุ๊ป ในเดือนม.ค. 2561
ขณะเดียวกัน รายได้การขายของใช้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ของเบบี้มายด์ โดยเฉพาะเบบี้มายด์ ไว้ท์ ซากูระ ซึ่งเปิดตัวช่วงปลายปี 2560 และ รายได้การขายผลิตภัณฑ์ ซี-วิค เพิ่มขึ้น จากความต้องการที่มากขึ้น จากเครือข่ายจัดจำหน่ายในประเทศไทย ที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งรายได้การขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม โสมอิน-ซัม และ เอ็ม-สตอร์ม เพิ่มขึ้น ภายหลังทำการตลาดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใหม่อีกครั้ง และ รายได้การขายเครื่องดื่มกาแฟพร้อมดื่ม เอ็ม-เพรสโซ ที่เพิ่งเปิดตัว
ด้านนางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 โดยใช้ชื่อย่อ ‘OSP’ ในการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่มั่นใจในพื้นฐานและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน จากความแข็งแกร่งของแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มผู้บริโภค และเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งเข้ามาช่วยสนับสนุนขีดความสามารถการแข่งขันในการทำตลาด รวมถึงการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยผลักดันผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่ดีในอนาคต